พระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษ ทรงบำเพ็ญเพียรทางใจตามลำพังมาโดยตลอด จนถึงราตรีวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อบรรทมหลับพระองค์ทรง “ปัญจมหาสุบิน” เป็นบุพนิมิตมหามงคล ๕ ประการ อันเป็นการฝันในลักษณะลางบอกเหตุสำคัญล่วงหน้า ได้แก่
- ทรงพระสุบินว่า พระองค์เสด็จบรรทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนภูเขาหิมพานต์ต่างพระเขนยหรือหมอน พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทางทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาหยั่งลงทางทิศตะวันตก และพระบาททั้งสองหยั่งลงในมหาสมุทรทางทิศใต้
- ทรงพระสุบินว่า ติณชาติหรือหญ้าแพรกเส้นหนึ่ง งอกออกจากพระนาภีหรือสะดือ สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า
- ทรงพระสุบินว่า หมู่กิมิชาติหรือหนอนทั้งหลายอันมีสีขาวบ้างดำบ้างเป็นอันมาก ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งสองจนเต็มพระชงฆ์หรือแข้งและไต่ขึ้นมาถึงพระชานุมณฑลคือถึงหัวเข่า
- ทรงพระสุบินว่า หมู่สกุณชาติหรือนกทั้ง ๔ จำพวก มีสีต่างๆกัน คือ สีเหลือง สีขาว สีแดง และสีดำ บินจากทิศทั้ง ๔ ลงมาจับแทบพระบาท แล้วก็กลับกลายเป็นสีขาวไปทั้งสิ้น
- ทรงพระสุบินว่า พระองค์เสด็จขึ้นไปเดินจงกรมบนยอดภูเขา อันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมเหล่านั้นมิได้เปรอะเปื้อนพระยุคลบาท
เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ตื่นบรรทม ทรงทำนายมหาสุบินนิมิตด้วยพระองค์เอง ครั้นทราบด้วยปัญญาว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเบิกบานพระทัย เมื่อทรงปฏิบัติภารกิจส่วนพระองค์ สระสรงพระวรกายหมดจดดีแล้ว จึงเสด็จไปประทับณร่มไม้นิโครธพฤกษ์(ต้นไทร) ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขปรุณมีดิถีหรือวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๖ ซึ่งบางตำราบอกว่า ตรงกับปีระกา
บรรดาบูรพาจารย์ได้ให้คำอรรถาธิบายเกี่ยวกับปัญจมหาสุบินไว้ว่า เป็นบุพนิมิตมหามงคล ๕ ประการ คือ
- พระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓ อันได้แก่ เทวโลก มนุษย์โลกและยมโลก
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยแผ่อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือมรรคผลนิพพาน แก่เหล่าเทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล
- เหล่าคฤหัสถ์พราหมณ์และชนทั้งหลาย จะเข้ามาสู่สำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอันมาก และจะรับพระไตรสรณคมน์ คือ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
- ชาวโลกทั้งหลายทุกชั้นทุกวรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร เมื่อมาสู่สำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะได้รู้ธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดผ่อนใสโดยเท่าเทียมกัน
- แม้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและปัจจัยทั้ง ๔ ที่ชาวโลกจากทุกทิศน้อมนำมาถวายด้วยความเลื่อมใสศรัทธา แต่พระองค์ก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ในลาภสักการะนั้น ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย.
~~~~~~~~~