ปฐมเทศนานี้ ได้รับการขนานนามว่า“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ก็เนื่องด้วยปฐมเทศนานี้ เปรียบประดุจธรรมราชรถซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาใช้บรรทุกเวไนยสัตว์ทั้งหลายออกจากห้วงวัฏสงสารไปสู่แดนเกษม คือ พระอมตนิพพานโดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถี ส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือ ล้อรถ หรือที่เรียกว่า“จักร” นั่นเอง ดังนั้น ล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า“จักรธรรม” หรือ“ธรรมจักร”
ธรรมดา “ล้อ” หรือ“จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ๓ส่วนคือดุมกำและกง ส่วน“จักรธรรม” นี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบโพธิปักขิยธรรม เป็นดุมปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นกำและอริยสัจ ๔ เป็นกง
สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้คือ การประกาศทางสายกลาง(มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ
- ที่ไม่เอียงไปทางกามสุขัลลิกานุโยค อันเป็นการประกอบตนแสวงหาความสุขจากกามคุณทั้ง ๕ และ
- ไม่เอียงไปทางอัตตกิลมถานุโยค อันเป็นการทรมานตนโดยหาประโยชน์มิได้
- สัมมาทิซิ
- สัมมาสังกัปปะ
- สัมมาวาจา
- สัมมากัมมันตะ
- สัมมาอาชีวะ
- สัมมาวายามะ
- สัมมาสติ
- สัมมาสมาธิ
มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นแนวปฏิบัติอันเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าและทำให้ประจักษ์แจ้งในอริยสัจ๔อันประกอบด้วย
- ทุกขอริยสัจ คือ ทุกข์อย่างแท้จริง
- ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ เหตุให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง
- ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง
- ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง(อริยมรรค)
ญาณทัสสนะหรือปัญญาอันรู้เห็นในอริยสัจ ๔ นั้น มีรอบ ๓ อาการ ๑๒ คือ ญาณทัสนะในอริยสัจ ๔ ของพระองค์นั้นหมดจดดีแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงกล้ายืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม ทั้งในโลกมนุษย์ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์หมู่สมณะพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ อาสวกิเลสของพระองค์ไม่กลับกำเริบขึ้นอีกแล้วพระชาตินี้เป็นที่สุด จะมีภพใหม่อีกก็หาไม่
จากหลักฐานอันมีปรากฏอยู่นั้นพบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ เป็นปฐมแล้วมิได้ตรัสแสดงสูตรนี้อีกเลย ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา แห่งการตรัสเทศนาเผยแผ่พระศาสนานั้น ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถาขยายความแห่งปฐมเทศนาในแต่ละหมวดโดยเอกเทศ.
—————