เพื่อยกระดับความรู้ สู่สังคมอุดมป้ญญา

พุทธกิจ ๕ อย่าง (กิจที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติทุกวัน)

0

พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงอาศัยอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ก็มิได้ทรงละกิจ ๕ อย่างเลย
ชื่อว่า พุทธกิจ ๕ อย่าง คือ ปุเรภัตตกิจ ๑  ปัจฉาภัตตกิจ ๑ ปุริมยามกิจ ๑ มัชฌิมยามกิจ ๑ ปัจฉิมยามกิจ ๑

ในพุทธกิจ ๕ นั้น มีดังคำในอรรถว่า

๑. ปุเรภัตตกิจ คือ  กิจก่อนเสวยอาหาร  
     พระผู้มีพระภาคเจ้า  เสด็จลุกขึ้นแต่เช้า  ทรงกระทำปริกรรมพระสรีระ มีล้างพระพักตร์เป็นต้น  เพื่ออนุเคราะห์อุปัฏฐาก และเพื่อความผาสุกแห่งพระสรีระ  ทรงยับยั้งอยู่เหนืออาสนะอันสงัด จนถึงเวลาภิกขาจาร  พอได้เวลาภิกขาจาร  ก็ทรงนุ่งอันตรววาสก ทรงคาดประคดเอว  ห่มจีวร ถือบาตร   บางครั้งก็พระองค์เดียว บางครั้งก็แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์  เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังบ้าน หรือนิคม.  บางคราวเสด็จเข้าไปเสด็จเข้าไปตามปกติ  บางคราวเสด็จไปด้วยปาฏิหาริย์เป็นอันมาก.  พวกมนุษย์เหล่านั้นย่อมรู้ว่าวันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปบิณฑบาติในที่นี้. มนุษย์เหล่านั้น นุ่งห่มเรียบร้อย ถือเครื่องสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น ออกจากเรือนดำเนินไปตามท้องถนน  บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยของหอมและดอกไม้โดยความเคารพแล้วทูลขอว่า  
      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอพระองค์โปรดประทานภิกษุแก่พวกข้าพระองค์ ๑๐ รูป ...๒๐ รูป ...๑๐๐ รูป  แล้วรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ปูอาสนะน้อมถวายบิณฑบาตโดยเคารพ.
      พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทรงตรวจดูสันดานของมนุษย์เหล่านั้นแล้วทรงแสดงธรรม.  บางพวกจะตั้งอยู่ในสรณคมน์  บางพวกจะตั้งอยู่ในศีล ๕  บางพวกจะตั้งอยู่ใน
โสดาปัตติผล สกทาคามิผลและอนาคามิผลอย่างใดอย่างหนึ่ง บางพวกจะบวชแล้ว ดำรงอยู่ในพระอรหัตอันเป็นผลเลิศ ด้วยประการใด  ก็ทรงอนุเคราะห์มหาชนด้วยประการนั้น เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จกลับไปพระวิหาร.  ในเวลาเสร็จภัตตกิจของภิกษุทั้งหลาย อุปัฏฐากก็จะกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ทรงทราบ. ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงจะเสด็จเข้าพระคันธกุฏี.

๒. ปัจฉาภัตตกิจ  
     ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงทำกิจก่อนเสวยอาหารอย่างนี้แล้ว ก็ประทับนั่งที่หน้ามุธพระคันธกุฏี  ทรงล้างพระบาท ทรงโอวาท ภิกษุสงฆ์ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด'
       การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าหาได้ยาก
       การได้อัตภาพเป็นมนุษย์หาได้ยาก
       การถึงพร้อมด้วยศรัทธาหาได้ยาก
       การบรรพชาหาได้ยาก
       การฟังธรรมหาได้ยากในโลก   
     ภิกษุบางรูปทูลถามกรรมฐาน กะพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระองค์ก็ประทานกรรมฐาน  อันเหมาะแก่ความประพฤติของภิกษุเหล่านั้น ภิกษุแม้ทั้งหมดถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วไปยังที่พักกลางคืน
และที่พักกลางวันของตนๆ . บางพวกไปป่า  บางพวกอยู่โคนไม้ เป็นต้น  บางพวกไปภพของท้าวจาตุมหาราชบางพวกไปภพของท้าววสวัสดี.
     ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฏี  ถ้าทรงจำนงก็ทรงมีสติ สัมปชัญญะ บรรทมตะแคงขวาครู่หนึ่ง  ครั้นมี พระวรกายกระปรี้กระเปร่า เสด็จลุกขึ้นตรวจดูสัตว์โลก ในภาคที่ ๒
ในภาคที่ ๓ มหาชนในคามหรือนิคม ที่พระองค์เสด็จเข้าไปอาศัยประทับอยู่  ถวายทานก่อนอาหาร ครั้นเวลาหลังอาหารนุ่งห่มเรียบร้อยแล้วถือเอาสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น  ประชุมกันใน
พระวิหาร.  
     ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า  เสด็จไปโดยปาฏิหาริย์อันเหมาะสมแก่บริษัทที่ประชุมกัน ประทับนั่งแสดงธรรม บนบวรพุทธอาสน์ ที่ตกแต่งไว้ในโรงธรรมให้เหมาะแก่กาล  เหมาะแก่สมัย.  ครั้นถึงเวลาอันควรแล้วจึงส่งบริษัทกลับไป. 

ปัจฉาภัตตกิจ กิจภายหลังอาหาร มีดังกล่าวนี้.

๓. ปุริมยามกิจ
     พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น  ทรงทำปัจฉาภัตตกิจให้เสร็จ อย่างนั้นแล้ว  ถ้าทรงประสงค์จะทรงสนานพระกาย ก็เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์  เสด็จเข้าสู่ซุ้มสำหรับสรงสนาน ทรงรดพระกาย
ด้วยน้ำอันอุปัฏฐากจัดถวาย. แม้พระอุปัฏฐากก็นำเอาพุทธอาสน์มาลาดถวายในบริเวณพระคันธกุฏี  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งอันตรวาสก ๒ ชั้น ที่ย้อมดีแล้ว ทรงคาดประคตเอว ทรงครอง
อุตตราสงฆ์แล้วเสด็จมาประทับ ณ พุทธอาสน์นั้น  ทรงเร้นอยู่ครู่หนึ่งลำพังพระองค์
     ลำดับนั้น  ภิกษุทั้งหลายมาจากที่นั้นไปยังที่เฝ้าพระศาสดา บรรดาภิกษุเหล่านั้น ทรงยับยั้ง แม้ตลอดยามต้น. 

ปุริมยามกิจ กิจในยามต้นมีดังกล่าวนี้.

๔. มัชฌิมยามกิจ
     เวลาเสร็จกิจในยามต้น  เมื่อภิกษุทั้งหลายถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป เทวดาทั่วหมื่นโลกธาตุ เมื่อได้โอกาส  จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถามปัญหา  ชั้นที่สุดแม้อักษร ๔ ตัวตามที่แต่งมา  พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงวิสัชนาปัญหาแก่เทวดาเหล่านั้น  ทรงยับยั้งอยู่ตลอดมัชฌิมยาม

มัชฌิมยามกิจ กิจในมัชฌิมยาม มีดังกล่าวนี้.

๕. ปัจฉิมยามกิจ
     ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแบ่งปัจฉิมยามเป็น ๓ ส่วน  แล้วทรงยับยั้งส่วนหนึ่งด้วยการเดินจงกรม  เพื่อทรงปลดเปลื้องความเมื่อยพระวรกายที่ประทับนั่งมาก ตั้งแต่เวลาก่อนเสวยอาหาร
     ในส่วนที่ ๒  เสด็จเข้าไปพระคันธกุฏี  ทรงมีพระสติและสัมปชัญญะบรรทมตะแคงข้างขวา
     ในส่วนที่ ๓  เสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง ตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ  เพื่อทอดพระเนตรบุคคลผู้ได้กระทำบุญญาธิการไว้ด้วยทาน และศีลเป็นต้น ในสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน

ปัจฉิมยามกิจ กิจในปัจฉิมยาม มีดังกล่าวนี้.


# องฺ.อ.๑/๑๑๒-๑๑๓; ที.อ. ๑/๑๔๗-๑๔๙; สุตฺต.อ. ๑/๒๕๑-๒๕๔

แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)
ฉันคือพลังงานจลน์ พลวัตเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น..