"คนที่มีความสุข คือ คนที่มีความสมหวัง เป็นคนที่สามารถประกอบกิจการงาน ประสบความสำเร็จตามความปรารถนา มีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวหรือวิตกกังวล มีอารมณ์มั่นคง มีความอดทน และมีความสามารถต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ ได้ เป็นคนที่ยอมรับความจริงในชีวิต ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม"
กล่าวโดยสรุป คนที่มีความสุขก็คือ คนที่มีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นคนที่สามารถปรับตัวได้อย่างดีในการดำรงชีวิตประจำวัน
ความสุขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เป็นการมองชีวิต มองตัวเอง และมองผู้อื่น ดังนั้นความสุขจึงเกิดขึ้นได้กับคนทุกชั้นไม่ว่า ผู้ดี มั่งมี หรือยากจน แนวความคิดทางด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข อาจกล่าวสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้ คือ
1. พยายามรักษาสุขภาพทางกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า สุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด คนที่มีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ย่อมมีจิตใจร่าเริง สนุกสนาน ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่แข็งแรง ย่อมเจ็บป่วยเสมอ ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิด รำคาญใจ ดังนั้นเราจึงควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอโดยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ มีการพักผ่อนเพียงพอ รักษาความสะอาดของร่างกายและเครื่องใช้ ตลอดจนหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ
2. รู้จักตนเองอย่างแท้จริง
ควรสำรวจตัวเองว่า เป็นคนอย่างไร มีความสามารถทางใด แค่ไหน มีความสนใจและต้องการสิ่งใด มีอะไรเป็นข้อดีและข้อเสีย พยายามทางแก้ไขข้อบกพร้องและส่งเสริมส่วนที่ดี จะทำให้เราตั้งเป้าหมายของชีวิตได้เหมาะสมกับความเป็นจริง ตลอดจนมีโอกาสพบกับความสำเร็จและความสมหวังได้มาก
3. จงเป็นผู้มีความหวัง
เราควรตั้งความหวังไว้เสมอ แม้เวลาที่ตกต่ำก็อย่าทอดอาลัย จงคิดหวังเสมอว่าเราจะไม่อยู่ในสภาพเช่นนี้ตลอดไป สักวันหนึ่งเราอาจจะดีขึ้นได้
4. ต้องกล้าเผชิญกับความกลัวและความกังวลใจต่าง ๆ
ในชีวิตของเรานี้มีสิ่งต่าง ๆ มากมาย ที่ทำให้กลัวเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้น เมื่อรู้สึกกลัวอะไรต้องพยายามค้นหาความจริงว่าสิ่งนั้นคืออะไร อย่าปล่อยจิตใจให้หวาดกลัวโดยไม่มีเหตุผล
5. ไม่ควรเก็บกดอารมณ์ที่ตึงเครียด
ควรหาทางระบายอารมณ์ที่ขุ่นมัวหรือไม่สบายใจ โดยหาทางออกในสิ่งที่สังคมยอมรับและเป็นไปในทางที่พึงปรารถนา
6. จงเป็นผู้มีอารมณ์ขัน
การมีอารมณ์ขันช่วยให้มีอารมณ์ผ่อนคลาย ไม่ควรมองการไกลในแง่เอาเป็นเอาตายมากเกินไป
7. การยอมรับข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดของตนเอง
การรู้จักตนเองและเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง จะช่วยให้เรายอมรับข้อบกพร่อง หรือความผิดพลาดของตนเอง และให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่นได้
8. ต้องรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนทำอยู่
การรู้จักพอใจในงานหรือสิ่งที่ตนทำอยู่ จะทำให้บุคคลนั้นเกิดอารมณ์สนุก ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ทำให้ชีวิตน่าสนใจ มีความกระตือรือร้นในการทำงาน มีกำลังใจเข้มแข็งในการต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส ทำให้ชีวิตมีความสุขและสดชื่นอยู่เสมอ
9. มีความต้องการพอเหมาะพอควรและมีความยืดหยุ่นได้
ต้องมีเหตุผล รู้จักความพอดีเกี่ยวกับความต้องการ ความปรารถนา ความทะเยอทะยาน ควรมีความคิดใฝ่ฝันที่ใกล้เคียงกับความสามารถและความเป็นจริง จะช่วยให้เราวางแผนต่าง ๆ ไว้เป็นระยะ ๆ เพื่อประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้
10. อย่าพะวงเกี่ยวกับตนเองมากเกินไปหรืออย่าคิดถึงแต่ตัวเองตลอดเวลา
เช่น คิดว่าตัวเองจะต้องเด่น ต้องดี ต้องสำคัญกว่าผู้อื่น การคิดแต่เรื่องของตัวเองจะทำให้เราไม่มีความสุขเลย เพราะไม่ว่าเราจะคิดอะไร ทำอะไรหรือไปที่ไหน จะต้องตกอยู่ในภาวะของการแข่งขันตลอดเวลา
11. การยอมรับสภาพของตัวเองโดยไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น
เพราะการเปรียบเทียบจะทำให้เราเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่า ทำไมเราจึงไม่โชคดีอย่างคนอื่น แต่เราอาจไม่ทราบว่า คนอื่นเขาก็มีความทุกข์เหมือนกัน
12. การยึดคติว่า จะเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ
การทำสิ่งใดให้ใครโดยหวังผลตอบแทน ย่อมจะทำให้ผิดหวังได้มากเพราะมัวแต่กังวลอยู่ว่าเราจะได้รับอะไรเป็นการตอบแทนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เมื่อไม่ได้รับตามที่ตนคาดหวังก็จะผิดหวังทำให้ไม่มีความสุข คิดว่าตนได้รับความอยุติธรรมอยู่เสมอ
13. การหาเพื่อนสนิทสักคนหนึ่ง หรือใครก็ได้ที่สามารถระบายความทุกข์และปรึกษาหารือได้
เพราะการมีเพื่อนจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวในโลก
14. จงปล่อยให้เหตุการณ์บางอย่างผ่านไปตามแนวทางของมัน
อย่าไปฝืนหรือเอาจริงเอาจังเกินไป เมื่อทำอะไรไม่สำเร็จก็เกิดอารมณ์ตึงเครียด จงหยุดพักเสียระยะหนึ่ง แล้วค่อยหันกลับมาทำใหม่ หรือเปลี่ยนแนวทางการกระทำเสียใหม่
15. จงตระหนักว่า เวลาเป็นยารักษาความเจ็บปวด เมื่อพลาดหวังหรือผิดหวัง
จงอดทนและมีความหวังต่อไป ไม่ควรใช้วิธีถอยหนีหรือหลีกเลี่ยงปัญหาโดยการทำลายตัวเองต้องนึกไว้เสมอว่า ถ้าเราปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ตาม ความเจ็บปวดต่าง ๆ จะค่อย ๆ ลดน้อยลงและหายไปในที่สุด
16. อย่าปล่อยให้เวลาว่างไปวันหนึ่ง ๆ โดยไม่ทำอะไร
การปล่อยให้เวลาว่าง จะทำให้คิดฟุ้งซ่าน ต้องพยายามหางานอดิเรกที่ตนสนใจทำ เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นกีฬา อ่านหนังสือ ฯลฯ โดยเฉพาะงานอดิเรกที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติ จะช่วยบำรุงจิตใจให้ชีวิตมีความสุขสดชื่น และมีความสงบ
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอแนะ หรือแนวทางในการปฏิบัติตนอย่างกว้าง ๆ การที่จะดำรงชีวิตอยู่ให้มีความสุขเพียงใดขึ้นอยู่กับบุคคลว่า จะนำหลักการหรือแนวทางไปดัดแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสมกับตนแค่ไหน เพียงใด และจริงจังหรือไม่เป็นสิ่งสำคัญ
ที่มา : ข้อมูลจาก “จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน” มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
-----------------------------------------