พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกกรรมไว้ ๑๒ อย่าง คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ๑ อโหสิกรรม ๑ อุปปัชชเวทนียกรรม ๑ อปรปริยายเวทนียกรรม ๑ ครุกกรรม ๑ พหุลกรรม ๑ ยทาสันนกรรม ๑ กฏัตตาวาปนกรรม ๑ ชนกกรรม ๑ อุปัตถัมภกกรรม ๑ อุปปีฬกกรรม ๑ อุปฆาตกกรรม ๑.
แยกเกี่ยวกับการให้ผล ดังนี้
กรรมกลุ่มที่ ๑
=======
โดยปากกาล คือจำแนกเวลาที่ให้ผล
๑.๑ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม
บรรดากรรม๑๑อย่างนั้น(ไม่รวมอโหสิกรรม) ในบรรดา(ชวนะ) จิต๗ชวนะชวนเจตนาดวงแรกที่เป็นกุศลหรืออกุศลในชวนวิถีแรกชื่อว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม
ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมนั้นให้ผลในอัตภาพนี้(ชาตินี้)เท่านั้นเช่นกรรมที่เป็นกุศลอำนวยผลในชาตินี้เหมือนกรรมของกากวฬิยเศรษฐีและปุณณกเศรษฐีเป็นต้นส่วนที่เป็นอกุศล(อำนวยผลในอัตภาพนี้) และกรรมที่เป็นอกุศลเหมือนกรรมของนันทยักษ์นันทมาณพนันทโคฆาตภิกษุโกกาลิกะ พระเจ้าสุปปพุทธะ พระเทวทัต และนางจิญจมาณวิกาเป็นต้นแต่เมื่อไม่สามารถให้ผลอย่างนั้น
๑.๒ อโหสิกรรม
คือถึงความเป็นกรรมที่ไม่มีผลกรรมนั้น พึงสาธกด้วยข้อเปรียบกับพรานเนื้ออุปมาด้วยนายพรานเนื้อเปรียบเหมือนลูกศรที่นายพรานเนื้อเห็นเนื้อแล้วโก่งธนูยิงไปถ้าไม่พลาด ก็จะทำให้เนื้อนั้นล้มลงในที่นั้นเอง ลำดับนั้นนายพรานเนื้อก็จะถลกหนังเนื้อนั้นออก เฉือนให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ถือเอาเนื้อไปเลี้ยงลูกเมียแต่ถ้าพลาดเนื้อจะหนีไปไม่หันกลับมาดูทิศนั้นอีกฉันใดข้ออุปไมยนี้ก็พึงทราบฉันนั้น
อธิบายว่าการกลับได้วาระแห่งวิบากของทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเหมือนกับลูกศรที่ยิงถูกเนื้อโดยไม่พลาดการกลับกลายเป็นกรรมที่ไม่มีผล เหมือนลูกศรที่ยิงพลาดฉะนั้นฉะนี้แล
๑.๓ อุปปัชชเวทนียกรรม
ส่วนชวนเจตนาดวงที่๗ที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จชื่อว่าอุปปัชชเวทนียกรรม
อุปปัชชเวทนียกรรมนั้น อำนวยผลในอัตภาพ(ชาติ)ต่อไปแต่ในบรรดากุศลอกุศลทั้งสองฝ่ายนี้ อุปปัชชเวทนียกรรมในฝ่ายที่เป็นกุศล พึงทราบด้วยสามารถแห่งสมาบัติ๘ในฝ่ายที่เป็นอกุศล พึงทราบด้วยสามารถแห่งอนันตริยกรรม๕ บรรดากรรมทั้งสองฝ่ายนั้นผู้ที่ได้สมาบัติ๘จะเกิดในพรหมโลกด้วยสมาบัติอย่างหนึ่ง ฝ่ายผู้กระทำอนันตริยกรรม๕จะบังเกิดในนรกด้วยกรรมอย่างหนึ่งสมาบัติที่เหลือและกรรม(ที่เหลือ) จะถึงความเป็นอโหสิกรรมไปหมด คือเป็นกรรมที่ไม่มีวิบากแม้ความข้อนี้ พึงทราบตามข้อเปรียบเทียบข้อแรกเทอญ
๑.๔ อปรปริยายเวทนียกรรม
ก็ชวนเจตนา๕ดวงที่เกิดขึ้นในระหว่างแห่งชวนะ๒ดวง(ชวนเจตนาดวงที่๑และชวนเจตนาดวงที่๗)ชื่อว่าอปรปริยายเวทนียกรรม
อปรปริยายเวทนียกรรมนั้น ได้โอกาสเมื่อใดในอนาคตกาลเมื่อนั้นจะให้ผลเมื่อความเป็นไปแห่งสังสารวัฏฏะยังมีอยู่ กรรมนั้นจะชื่อว่าเป็นอโหสิกรรมย่อมไม่มีกรรมทั้งหมดนั้นควรแสดงด้วย(เรื่อง)พรานสุนัขเปรียบเหมือนสุนัขที่นายพรานเนื้อปล่อยไปเพราะเห็นเนื้อจึงวิ่งตามเนื้อไปทันเข้าในที่ใดก็จะกัดเอาในที่นั้นแหละฉันใด
กรรมนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันได้โอกาสในที่ใดก็จะอำนวยผลในที่นั้นทันทีขึ้นชื่อว่าสัตว์จะรอดพ้นไปจากกรรมนั้นเป็นไม่มี
กรรมกลุ่มที่ ๒
=======
โดยกิจคือ จำแนกผลให้ตามหน้าที่
๒.๕ ชนกกรรม
กรรมที่ให้เกิดปฏิสนธิอย่างเดียวหรือกรรมที่นำให้เกิดไม่ให้เกิดปวัตติกาล(ขณะปัจจุบัน) กรรมอื่นย่อมให้เกิดวิบากในปวัตติกาลชื่อว่า ชนกกรรม
อุปมาเสมือนหนึ่งว่ามารดาให้กำเนิดอย่างเดียวส่วนพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงมฉันใด ชนกกรรมก็เช่นนั้นเหมือนกันให้เกิดปฏิสนธิเหมือนมารดา(ส่วน)กรรมที่มาประจวบเข้าในปวัตติกาลเหมือนพี่เลี้ยงนางนม
๒.๖ อุปัตถัมภกรรม
ธรรมดาอุปัตถัมภกรรม มีได้ทั้งในกุศลทั้งในอกุศล เพราะว่าลางคนกระทำกุศลกรรมแล้วเกิดในสุคติภพ เขาดำรงอยู่ในสุคติภพนั้นแล้วบำเพ็ญกุศลบ่อยๆสนับสนุนกรรมนั้นย่อมท่องเที่ยวไปในสุคติภพนั่นแหละตลอดเวลาหลายพันปีลางคนกระทำอกุศลกรรมแล้วเกิดในทุคติภพ เขาดำรงอยู่ในทุคตินั้น กระทำอกุศลกรรมบ่อยๆสนับสนุนกรรมนั้นแล้วจะท่องเที่ยวไปในทุคติภพนั้นแหละ สิ้นเวลาหลายพันปี
อีกนัยหนึ่งควรทราบดังนี้ ทั้งกุศลกรรมทั้งอกุศลกรรม ชื่อว่าเป็นชนกกรรม
ชนกกรรมนั้นให้เกิดวิบากขันธ์ทั้งที่เป็นรูปและอรูป ทั้งในปฏิสนธิกาลทั้งในปวัตติกาล
ส่วนอุปัตถัมภกกรรมไม่สามารถให้เกิดวิบากได้แต่จะสนับสนุนสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นในเพราะวิบาก ที่ไม่เกิดปฏิสนธิที่กรรมอื่นให้ผลแล้ว ย่อมเป็นไปตลอดกาลนาน
๒.๗ อุปปีฬกกรรม
กรรมที่เบียดเบียนบีบคั้นสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นในเพราะวิบากที่ให้เกิดปฏิสนธิที่กรรมอื่นให้ผลแล้ว จะไม่ให้(สุขหรือทุกข์นั้น) เป็นไปตลอดกาลนานชื่อว่าอุปปีฬกกรรม
ในอุปปีฬกกรรมนั้นมีนัยดังต่อไปนี้เมื่อกุศลกรรมกำลังให้ผลอกุศลกรรมจะเป็นอุปปีฬกกรรมไม่ให้(โอกาส)กุศลกรรมนั้นให้ผลแม้เมื่ออกุศลกรรมนั้นกำลังให้ผลอยู่ กุศลกรรมจะเป็นอุปปีฬกกรรมไม่ให้(โอกาส)อกุศลกรรมนั้นให้ผลต้นไม้กอไม้ หรือเถาวัลย์ที่กำลังเจริญงอกงามใครคนใดคนหนึ่งเอาไม้มาทุบหรือเอาศาสตรามาตัดเมื่อเป็นเช่นนั้นต้นไม้กอไม้หรือเถาวัลย์นั้นจะต้องไม่เจริญงอกงามขึ้นฉันใดกุศลกรรม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อกำลังให้ผล(แต่ถูก)อกุศลกรรมเบียดเบียนหรือว่าอกุศลกรรมกำลังให้ผล(แต่ถูก)กุศลกรรมบีบคั้นจะไม่สามารถให้ผลได้ในสองอย่างนั้น สำหรับนายสุนักขัตตะอกุศลกรรม(ชื่อว่า) เบียดเบียนกุศลกรรม สำหรับกรณีนายโจรฆาตกะกุศลกรรม(ชื่อว่า)เบียดเบียนอกุศลกรรม
[ เรื่องเพชฌฆาตชื่อตาวกาฬกะ ]
เล่ากันว่า ในกรุงราชคฤห์ นายตาวกาฬกะ กระทำโจรฆาตกรรม(ประหารชีวิตโจร)มาเป็นเวลา๕๐ปีลำดับนั้นราชบุรุษทั้งหลายได้กราบทูลเขาต่อพระราชาว่าข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพนายตาวกาฬกะแก่แล้วไม่สามารถจะประหารชีวิตโจรได้พระราชารับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงปลดเขาออกจากตำแหน่งนั้นอำมาตย์ทั้งหลายปลดเขาออกแล้วแต่งตั้งคนอื่นแทนฝ่ายนายตาวกาฬกะ ตลอดเวลาที่ทำงานนั้น(เป็นเพชฌฆาต)ไม่เคยนุ่งผ้าใหม่ ไม่ได้ทัดทรงของหอมและดอกไม้ ไม่ได้บริโภคข้าวปายาสไม่ได้รับการอบอาบ
เขาคิดว่าเราอยู่โดยเพศของผู้เศร้าหมองมานานแล้ว จึงสั่งภรรยาให้หุงข้าวปายาส ให้นำเครื่องสัมภาระสำหรับอาบไปยังท่าน้ำดำเกล้าและนุ่งผ้าใหม่ลูบไล้ของหอมทัดดอกไม้กำลังเดินมาบ้านเห็นพระสารีบุตรเถระดีใจว่าเราจะได้พ้นจากกรรมที่เศร้าหมองและได้พบพระผู้เป็นเจ้าของเราด้วย จึงนำพระเถระไปยังเรือน แล้วอังคาส(ประเคน)ด้วยข้าวปายาสที่ปรุงด้วยเนยใสเนยข้นและผงน้ำตาลกรวดพระเถระได้อนุโมทนาของเขาเขาได้ฟังอนุโมทนาแล้ว กลับได้อนุโลมิกขันติ ตามส่งพระเถระแล้วเดินกลับในระหว่างทางถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดให้ถึงความสิ้นชีวิตแล้วไปเกิดในดาวดึงสพิภพ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามพระตถาคตว่าพระพุทธเจ้าข้า วันนี้เองนายโจรฆาตอันพระสารีบุตรเถระช่วยนำออกจากกรรมที่เศร้าหมองถึงแก่กรรมแล้วในวันนี้เหมือนกัน เขาเกิดในที่ไหนหนอ
พ. ในดาวดึงสพิภพ ภิกษุทั้งหลาย.
ภิ. พระพุทธเจ้าข้า นายโจรฆาตฆ่าคนมาเป็นเวลานานและพระองค์ก็ตรัสสอนไว้อย่างนี้ บาปกรรมไม่มีผลหรืออย่างไรหนอ
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากล่าวเช่นนั้น นายโจรฆาตได้กัลยาณมิตรผู้มีกำลังเป็นอุปนิสสยปัจจัย ถวายบิณฑบาตแก่พระธรรมเสนาบดีฟังอนุโมทนากถาแล้วกลับได้อนุโลมิกขันติจึงได้บังเกิดในที่นั้นนายโจรฆาตได้ฟังคำเป็นสุภาษิตในเมืองแล้วได้อนุโลมขันติบันเทิงใจ ไปเกิดในไตรเทพ
๒.๘ อุปฆาตกกรรม
ส่วนอุปฆาตกกรรมที่เป็นกุศลบ้างที่เป็นอกุศลบ้างมีอยู่เองจะตัดรอนกรรมอื่นที่มีกำลังเพลากว่าห้ามวิบากของกรรมนั้นไว้แล้วทำโอกาสแก่วิบากของตนก็เมื่อกรรมทำ(ให้)โอกาสอย่างนี้แล้วกรรมนั้นเรียกว่าเผล็ดผลแล้วอุปฆาตกกรรมนี้นั่นแหละมีชื่อว่าอุปัจเฉทกกรรมบ้าง
อธิบายอุปัจเฉทกกรรมในอุปัจเฉทกกรรมนั้นมีนัยดังต่อไปนี้ ในเวลาที่กุศลกรรมให้ผลอกุศลกรรมอย่างหนึ่งจะตั้งขึ้นตัดรอนกรรมนั้นให้ตกไป ถึงในเวลาที่อกุศลกรรมให้ผลกุศลกรรมอย่างหนึ่งก็จะตั้งขึ้นตัดรอนกรรมนั้นแล้วให้ตกไปนี้ชื่อว่าอุปัจเฉทกกรรม
บรรดาอุปัจเฉทกกรรมที่เป็นกุศลและอกุศลทั้งสองอย่างนั้น กรรมของพระเจ้าอชาตศัตรูได้เป็นกรรมที่ตัดรอนกุศลส่วนกรรมของพระองคุลิมาลเถระได้เป็นกรรมตัดรอนอกุศลด้วยประการดังกล่าวมานี้
๓.๙ ครุกกรรม
ส่วนในบรรดากรรมหนักและกรรมไม่หนักทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลกรรมใดหนักกรรมนั้นชื่อว่าครุกกรรม
ครุกกรรมนี้นั้นในฝ่ายกุศลพึงทราบว่าได้แก่มหัคคตกรรมในฝ่ายอกุศลพึงทราบว่าได้แก่อนันตริยกรรม๕
เมื่อครุกรรมนั้นมีอยู่ กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่เหลือจะไม่สามารถให้ผลได้ ครุกรรมแม้ทั้งสองอย่างนั้นแหละจะให้ปฏิสนธิอุปมาเสมือนหนึ่งว่าก้อนกรวดหรือก้อนเหล็กแม้ประมาณเท่า
เมล็ดพันธุ์ผักกาดที่โยนลงห้วงน้ำย่อมไม่สามารถจะลอยขึ้นเหนือน้ำได้จะจมลงใต้น้ำอย่างเดียวฉันใดในกุศลกรรมก็ดีอกุศลกรรมก็ดีก็ฉันนั้นเหมือนกันกรรมฝ่ายใดหนักเขาจะถือเอากรรมฝ่ายนั้นแหละไป
๓.๑๐พหุลกรรม(อาจิณณกรรม)
ส่วนในกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลายกรรมใดมากกรรมนั้นชื่อว่าพหุลกรรม
พหุลกรรมนั้นพึงทราบด้วยอำนาจอาเสวนะที่ได้แล้วตลอดกาลนาน
อีกอย่างหนึ่งในฝ่ายกุศลกรรมกรรมใดที่มีกำลังสร้างโสมนัสให้ในฝ่ายอกุศลกรรมสร้างความเดือดร้อนให้กรรมนั้นชื่อว่าพหุลกรรมอุปมาเสมือนหนึ่งว่าเมื่อนักมวยปล้ำ๒คนขึ้นเวทีคนใดมีกำลังมากคนนั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งล้ม(แพ้)ไปฉันใดพหุลกรรมนี้นั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันจะทับถมกรรมพวกนี้ที่มีกำลังน้อย(ชนะ) ไป
กรรมใดมากโดยการเสพจนคุ้นหรือมีกำลังโดยอำนาจ ทำให้เดือดร้อนมากกรรมนั้นจะให้ผลเหมือนกรรมของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยฉะนั้น
[ เรื่องพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย ]
เล่ากันมาว่าพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยนั้นรบพ่ายแพ้ในจูฬังคณิยยุทธ์ ทรงควบม้าหนีไปมหาดเล็กชื่อว่าติสสอำมาตย์ของพระองค์ตามเสด็จไปได้คนเดียวเท่านั้นท้าวเธอเสด็จเข้าสู่ดงแห่งหนึ่งประทับนั่งแล้วเมื่อถูกความหิวเบียดเบียนจึงรับสั่งว่าพี่ติสสะเราสองคนหิวเหลือเกินจะทำอย่างไร? มีอาหารพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้นำพระกระยาหารใส่ขันทองใบหนึ่งซ่อนไว้ในระหว่างผ้าสาฎกมาด้วยพระเจ้าข้าถ้าอย่างนั้นจงนำมา เขาจึงนำพระกระยาหารออกมาวางตรงพระพักตร์พระราชาท้าวเธอทรงเห็นแล้วตรัสว่าจงแบ่งออกเป็น๔ส่วนซิพ่อคุณ
เขาทูลถามว่า พวกเรามี ๓ คน เหตุไฉนพระองค์จึงให้จัดเป็น ๔ ส่วน
พี่ติสสะเวลาที่เรานึกถึงตัวเราไม่เคยบริโภคอาหารที่ยังไม่ได้ถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าก่อนเลย ถึงวันนี้เราก็จักไม่ยอมบริโภคโดยยังไม่ได้ถวายอาหารแก่พระผู้เป็นเจ้า เขาจึงจัดแบ่งอาหารออกเป็น ๔ ส่วน
พระราชาทรงรับสั่งว่า ท่านจงประกาศเวลาในป่าร้าง เราจักได้พระคุณเจ้าที่ไหนพระพุทธเจ้าข้า ข้อนี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่านถ้าศรัทธาของเรายังมีเราจักได้พระคุณเจ้าเองท่านจงวางใจแล้วประกาศเวลาเถิด
เขาจึงประกาศถึง ๓ ครั้ง ว่าได้เวลาอาหารแล้ว ขอรับพระคุณเจ้าได้เวลาอาหารแล้วขอรับพระคุณเจ้า
ลำดับนั้น พระโพธิยมาลกมหาติสสเถระ ได้ยินเสียงนั้นด้วยทิพพโสตธาตุรำพึงว่าเสียงนี้ที่ไหน? จึงรู้ว่าวันนี้พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยแพ้สงครามเสด็จเข้าสู่ดงดิบประทับนั่งแล้วให้แบ่งข้าวขันเดียวออกเป็น ๔ ส่วน ทรงรำพึงว่า เราจักบริโภคเพียงส่วนเดียวจึงให้ประกาศเวลา(ภัตร) คิดว่าวันนี้เราควรทำการสงเคราะห์พระราชา แล้วมาโดยมโนคติได้ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระราชา
พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ทรงมีพระทัยเลื่อมใสรับสั่งว่ าเห็นไหมเล่าพี่ติสสะดังนี้ไหว้พระเถระแล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญขอท่านจงให้บาตร
พระเถระนำบาตรออกแล้ว พระราชาทรงเทอาหารส่วนของพระเถระพร้อมส่วนของพระองค์ลงในบาตรแล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญขึ้นชื่อว่าความลำบากด้วยอาหารจงอย่ามีในกาลไหนๆ ทรงไว้แล้วประทับยืนอยู่
ฝ่ายติสสอมาตย์คิดว่า เมื่อพระลูกเจ้าของเราทอดพระเนตรอยู่ เราจักไม่สามารถบริโภคได้จึงได้เทส่วนของตนลงไปในบาตรพระเถระเหมือนกันถึงม้าคิดว่าถึงเราก็ควรถวายส่วนของเราแก่พระเถระพระราชาทอดพระเนตรดูม้าแล้วทรงทราบว่าถึงม้านี้ก็ประสงค์จะใส่ส่วนของตนลงในบาตรของพระเถระเหมือนกันจึงได้เทส่วนแม้นั้นลงในบาตรนั้นเหมือนกันไหว้แล้วส่งพระเถระไป พระเถระถือเอาภัตรนั้นไปแล้วได้ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ต้นโดยแบ่งปั้นเป็นคำๆ
แม้พระราชาทรงพระดำริว่า พวกเราหิวเหลือเกินแล้วจะพึงเป็นการดีมาก ถ้าหากพระเถระจะส่งอาหารที่เหลือมาให้ พระเถระรู้พระราชดำริของพระราชาแล้ว จึงทำภัตรที่เหลือให้พอเพียงแก่คนเหล่านั้นจะดำรงชีวิตอยู่ได้จึงโยนบาตรไปในอากาศ
บาตรมาวางอยู่ที่พระหัตถ์ของพระราชาแล้ว แม้อาหารก็พอที่คนทั้ง ๓ จะดำรงชีพอยู่ได้
ลำดับนั้นพระราชาทรงล้างบาตรแล้วทรงดำริว่า
เราจักไม่ส่งบาตรเปล่าไป จึงทรงเปลื้องพระภูษาชุบน้ำแล้ววางผ้าไว้ในบาตรทรงอธิษฐานว่าขอบาตรจงประดิษฐานอยู่ในมือแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเราแล้วทรงโยนบาตรไปในอากาศ บาตรไปประดิษฐานอยู่ในมือพระเถระแล้ว
ในเวลาต่อมา เมื่อพระราชาให้ทรงสร้างมหาเจดีย์สูง ๑๒๐ ศอก บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่ ๘ แห่งพระตถาคตเจ้าไว้ เมื่อพระเจดีย์ยังไม่ทันเสร็จก็ได้เวลาใกล้สวรรคต
ลำดับนั้น เมื่อพระภิกษุสงฆ์สาธยายโดยนิกายทั้ง ๕ ถวายพระองค์ผู้บรรทมอยู่ข้างด้านทิศใต้แห่งมหาเจดีย์รถ๖คันจากเทวโลก ๖ ชั้น จอดเรียงรายอยู่ในอากาศเบื้องพระพักตร์ของพระราชา
พระราชาทรงรับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงนำสมุดบันทึกการทำบุญมาแล้วรับสั่งให้อ่านสมุดนั้นมาแต่ต้นครั้นไม่มีกรรมอะไรที่จะให้พระองค์ประทับพระทัยจึงตรัสสั่งว่า จงอ่านต่อไปอีกคนอ่าน อ่านต่อไปว่าข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ผู้ปราชัยในจุลลังคณิยยุทธสงครามเสด็จเข้าดงประทับนั่ง ถวายภิกษาแก่ท่านพระโพธิมาลกมหาติสสเถระโดยทรงแบ่งพระกระยาหารขันเดียวออกเป็น๔ส่วนพระราชารับสั่งให้หยุดอ่านแล้วซักถามภิกษุสงฆ์ว่าพระคุณเจ้าข้าเทวโลกชั้นไหนเป็นรมณียสถานภิกษุสงฆ์ถวายพระพรว่าขอถวายพระพรมหาบพิตรดุสิตพิภพเป็นที่ประทับของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์พระราชาสวรรคตแล้วประทับนั่งบนราชรถที่มาแล้วจากดุสิตพิภพนั่นแหละได้เสด็จถึงดุสิตพิภพแล้ว นี้เป็นเรื่อง(แสดงให้เห็น)ในการให้วิบากของกรรมที่มีกำลัง
๓.๑๑ยทาสันนกรรม(อาสันนกรรม)
ส่วนในบรรดากุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลาย กรรมใดสามารถเพื่อจะให้ระลึกถึงในเวลาใกล้ตายกรรมนั้นชื่อว่ายทาสันนกรรม(อาสันนกรรม)
ยทาสันนกรรม(อาสันนกรรม) นั่นแหละ เมื่อกุศลกรรมและอกุศลกรรมเหล่าอื่นถึงจะมีอยู่ก็ให้ผล(ก่อน) เพราะอยู่ใกล้มรณกาล เหมือนเมื่อเปิดประตูคอกที่มีฝูงโคเต็มคอกบรรดาโคฝึกและโคมีกำลัง ถึงจะอยู่ในส่วนอื่น(ไกลปากคอก) โคตัวใดอยู่ใกล้ประตูคอกโดยที่สุดจะเป็นโคแก่ถอยกำลังก็ตามโคตัวนั้นก็ย่อมออกได้ก่อนอยู่นั่นเองฉะนั้นในข้อนั้นมีเรื่องดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง
[ เรื่องคนเฝ้าประตูชาวทมิฬ]
เล่ากันมาว่าในบ้านมธุอังคณะ มีนายประตูชาวทมิฬคนหนึ่งถือเอาเบ็ดไปแต่เช้าตกปลาได้แล้วแบ่งออกเป็น๓ส่วนส่วนหนึ่งเอาแลกข้าวสาร ส่วนหนึ่งแลกนมส่วนหนึ่งต้มแกงกินโดยทำนองนี้เขาทำปาณาติบาตอยู่ถึง ๕๐ ปี ต่อมาแก่ตัวลงล้มหมอนนอนเสื่อในขณะนั้นพระจุลลปิณฑปาติกติสสเถระชาวคิรีวิหารรำพึงว่าคนผู้นี้ เมื่อเรายังเห็นอยู่อย่าพินาศเสียเลย แล้วไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเขาขณะนั้นภริยาของเขาจึงบอกว่านี่! พระเถระมาโปรดแล้ว เขาตอบว่า ตลอดเวลา ๕๐ ปี เราไม่เคยไปสำนักของพระเถระเลยถ้าคุณความดีอะไรของเรา ท่านจึงต้องมา เธอจงไปนิมนต์ให้ท่านไปเสียเถิด
นางบอกพระเถระว่า นิมนต์ไปโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า
พระเถระถามว่า อุบาสกมีพฤติการทางร่างกายอย่างไร
นางตอบว่า อ่อนแรงแล้วเจ้าข้า.
พระเถระเข้าไปยังเรือนให้สติแล้วกล่าวว่า โยมรับศีล(ไหม)
เขาตอบว่า รับขอรับพระคุณเจ้านิมนต์ให้ศีลเถิด
พระเถระให้สรณะ ๓ แล้วเริ่มจะให้ศีล ๕ ในขณะที่อุบาสกนั้นว่าปญฺจสีลานิ นั่นแหละลิ้นแข็งเสียแล้ว
พระเถระคิดว่า เท่านี้ก็พอควร แล้วออกไป
ส่วนเขาตายแล้วไปเกิดในภพจาตุมหาราชิกะ ก็ในขณะที่เขาเกิดนั่นแหละรำลึกว่าเราทำกรรมอะไรหนอจึงได้สมบัตินี้รู้ว่าได้เพราะอาศัยพระเถระจึงมาจากเทวโลกไหว้พระเถระแล้วยืนอยู่ณที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อพระเถระถามว่านั่นใครตอบว่ากระผม(คือ) คนเฝ้าประตูชาวทมิฬครับพระคุณเจ้า
พระเถระถามว่าท่านไปเกิดที่ไหน
ตอบว่า ผมเกิดที่ชั้นจาตุมหาราชิกภพ ครับพระคุณเจ้า ถ้าหากพระคุณเจ้าได้ให้ศีล ๕ แล้วไซร้ ผมคงได้เกิดในชั้นสูงขึ้นไป ผมจักทำอย่างไร
พระเถระตอบว่า ดูก่อน(เทพ)บุตร ท่านไม่สามารถจะรับเอาได้เอง เทพบุตรไหว้พระเถระแล้วกลับไปยังเทวโลก
นี้เป็นเรื่อง(ตัวอย่าง)ในกุศลกรรมก่อน
[ เรื่องมหาวาตกาลอุบาสก ]
ในระหว่างแม่น้ำคงคาได้มีอุบาสกชื่อว่ามหาวาตกาละเขาสาธยายอาการ๓๒ เพื่อมุ่งโสดาปัตติมรรคถึง๓๐ปี ถึงทิฏฐิวิปลาสว่าเราสาธยายอาการ๓๒อยู่อย่างนี้ ก็ไม่อาจให้เกิดแม้เพียงโอภาสได้ ชะรอยพระพุทธศาสนา
จักไม่เป็นศาสนาเครื่องนำสัตว์ออกจากภพ(เป็นแน่) กระทำกาลกิริยาแล้วได้ไปเกิดเป็นลูกจรเข้ยาว๙อุสภะที่แม่น้ำมหาคงคาคราวหนึ่งเกวียนบรรทุกเสาหิน๖๐เล่มเดินทางไปตามท่ากัจฉปะจรเข้นั้นฮุบกินทั้งโคทั้งหินเหล่านั้นจนหมดสิ้น
นี้เป็นเรื่อง(ตัวอย่าง) ในอกุศลกรรม
๓.๑๒ กฏัตตาวาปนกรรม
ส่วนกรรมนอกเหนือจากกรรม๓ดังกล่าวมาแล้วนี้ ทำไปโดยไม่รู้หรือสักว่าทำชื่อว่า กฏัตตาวาปนกรรม
กฏัตตาวาปนกรรมนั้น อำนวยวิบากได้ในกาลบางครั้ง เพราะไม่มีกรรม๓อย่างเหล่านั้น
เหมือนท่อนไม้ที่คนบ้าขว้างไป จะตกไปในที่ๆ
ไม่มีจุดหมายฉะนั้น
เป็นอันท่านจำแนกกรรม ๑๒ อย่าง ตามสุตตันติกปริยาย.
# ๑. องฺ.อ. ๑/๓/๑๒๑-๑๓๓. ๒. วิสุทธิ. ๓/๒๒๓
-----------------------