เพื่อยกระดับความรู้ สู่สังคมอุดมป้ญญา

จันทกุมาร : มหานิบาตชาดก ตอนที่ ๗

0


เพื่อบำเพ็ญขันติบารมี [ จันทชาดก (จ)]

 

เนืี้อเรื่อง..

ในครั้งโบราณเมืองพารานสีมีชื่อว่าบุปผวดีมีกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าเอกราชาพระราชบุตรองค์ใหญ่พระนามว่าจันทกุมารดำรงตำแหน่งเป็นอุปราชและพราหมณ์ชื่อกัณฑหาลเป็นปุโรหิตในราชสำนัก 


กัณฑหาลมีหน้าที่ตัดสินคดีความอีกตำแหน่งแต่กัณฑหาลเป็นคนไม่ยุติธรรมไม่ซื่อสัตย์มักจะรับสินบนจากคู่ความอยู่เสมอข้างไหนให้สินบนมากก็จะตัดสินความเข้าข้างนั้น 


จนกระทั่งวันหนึ่งผู้ที่ได้รับความอยุติธรรมร้องโพนทนาโทษของกัณฑหาลได้ยินไปถึงพระจันทกุมารจึงตรัสถามว่าเกิดเรื่องอะไรบุคคลนั้นจึงทูลว่า 

   "กัณฑหาลปุโรหิตมิได้เป็นผู้ทรงความยุติธรรมหากแต่รับสินบนก่อความอยุติธรรมให้เกิดขึ้นเนืองๆ


พระจันทกุมารตรัสว่า 

   "อย่ากลัวไปเลยเราจะเป็นผู้ให้ความยุติธรรมแก่เจ้า


แล้วพระจันทกุมารก็ทรงพิจารณาความอีกครั้งตัดสินไปโดยยุติธรรมเป็นที่พึงพอใจแก่ประชาชนทั้งหลายฝูงชนจึงแซ่ซ้องสดุดีความยุติธรรมของพระจันทกุมารพระเจ้าเอกราชาทรงได้ยินเสียงแซ่ซ้องจึงตรัสถามครั้นทรงทราบจึงมีโองการว่า 

   "ต่อไปนี้ให้จันทกุมารแต่ผู้เดียวทำหน้าที่ตัดสินคดีความทั้งปวงให้ยุติธรรม


กัณฑหาลเมื่อถูกถอดออกจากตำแหน่งหน้าที่ก็เกิดความเคียดแค้นพระจันทกุมารว่าทำให้ตนขาดผลประโยชน์และได้รับความอับอายขายหน้าประชาชนจึงผูกใจพยาบาทแต่นั้นมา


อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าเอกราชทรงฝันเห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เห็นความผาสุกสวยงามความรื่นรมย์ต่างๆนานาในสรวงสวรรค์เมื่อตื่นจากฝันพระองค์ยังทรงอาลัยอาวรณ์อยู่และปรารถนาจะได้ไปสู่ดินแดนอันเป็นสุขนั้นจึงตรัสถามบรรดาผู้ที่พระองค์คิดว่าจะสามารถบอกทางไปสู่เทวโลกให้แก่พระองค์ได้กัณฑหาลได้โอกาสจึงกราบทูลว่า

   "ข้าแต่พระราชาผู้ที่ประสงค์จะไปสู่สวรรค์มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นคือทำบุญให้ทานและฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า


พระราชาตรัสถามว่า 

   "ฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่าหมายความว่าอย่างไร


กัณฑหาลทูลตอบว่า 

   "พระองค์จะต้องการกระทำการบูชายัญด้วยพระราชบุตรพระมเหสีประชาชนหญิงชายเศรษฐีและช้างแก้วม้าแก้วจำนวนอย่างละสี่จึงจะไปสู่สวรรค์ได้


ด้วยความที่อยากจะไปเสวยสุขในสวรรค์พระเจ้าเอกราชาก็ทรงเห็นดีที่จะทำบูชายัญตามที่กัณฑหาลผู้มีจิตริษยาพยาบาททูลแนะพระองค์ทรงระบุชื่อพระราชบุตรพระมเหสีเศรษฐีประชาชนและช้างแก้วม้าแก้วที่จะบูชายัญด้วยพระองค์เอง 


อันที่จริงกัณฑหาลประสงค์ร้ายกับพระจันทกุมารองค์เดียวเท่านั้นแต่ครั้นจะให้บูชายัญพระจันทกุมารแต่ลำพังก็เกรงว่าผู้คนจะสงสัยจึงต้องให้บูชายัญเป็นจำนวนสี่พระจันทกุมารผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่ก็ทรงอยู่ในจำนวนชื่อที่พระเจ้าเอกราชาโปรดให้นำมาทำพิธีด้วยจึงสมเจตนาของกัณฑหาลเมื่อช้างม้าและบุคคลที่ถูกระบุชื่อถูกนำมาเตรียมเข้าพิธีก็เกิดความโกลาหลวุ่นวายมีแต่เสียงผู้คนร้องไห้คร่ำครวญไปทั่ว 


พระจันทกุมารนั้นเมื่อราชบุรุษไปกราบทูลก็ทรงถามว่าใครเป็นผู้ทูลให้พระราชาประกอบพิธีบูชายัญราชบุรุษทูลว่ากัณฑหาลก็ทรงทราบว่าเป็นเพราะความริษยาพยาบาทที่กัณฑหาลมีต่อพระองค์เป็นสาเหตุในเวลาที่ราชบุรุษไปจับเศรษฐีทั้งสี่มาเข้าพิธีนั้นบรรดาญาติพี่น้องต่างพยายามทูลวิงวอนขอชีวิตต่อพระราชาแต่พระราชาก็ไม่ทรงยินยอมเพราะมีพระทัยลุ่มหลงในภาพเทวโลกและเชื่องมงายในสิ่งที่กัณฑหาลทูล


ต่อมาเมื่อพระบิดาพระมารดาของพระราชาเองทรงทราบก็รีบเสด็จมาทรงห้ามปรามว่า

   "ลูกเอ๋ยทางไปสวรรค์ที่ต้องฆ่าบุตรภรรยาต้องเบียดเบียนผู้อื่นนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรการให้ทาานการงดเว้นการเบียดเบียนต่างหากเป็นทางสู่สวรรค์" 


พระราชาก็มิได้ทรงฟังคำห้ามปรามของพระบิดาพระมารดาพระจันทกุมารทรงเห็นว่าเป็นเพราะพระองค์เองที่ไปขัดขวางหนทางของคนพาลคือกัณฑหาลทำให้เกิดเหตุใหญ่จึงทรงอ้อนวอนพระบิดาว่า 

   "ขอพระองค์โปรดประทานชีวิตข้าพเจ้าทั้งปวงเถิดแม้จะจองจำเอาไว้ก็ยังได้ใช้ประโยชน์จะให้เป็นทาสเลี้ยงช้างเลี้ยงม้าหรือขับไล่ไปเสียจากเมืองก็ย่อมได้ขอประทานชีวิตไว้เถิด" 


พระราชาได้ฟังพระราชบุตรก็ทรงสังเวชพระทัยจนน้ำพระเนตรไหลตรัสให้ปล่อยพระราชบุตรพระมเหสีและทุกสิ่งทุกคนที่จับมาทำพิธี 


ครั้นกัณฑหาลทราบเข้าขณะเตรียมพิธีก็รีบมาทูบคัดค้านและล่อลวงให้พระราชาคล้อยตามด้วยความหลงใหลในสวรรค์อีกพระราชาก็ทรงเห็นดีไปตามที่กัณฑหาลชักจูงพระจันทกุมารจึงทูลพระบิดาว่า 

   "เมื่อข้าพเจ้ายังเล็กๆอยู่พระองค์โปรดให้พี่เลี้ยงนางนมทะนุบำรุงรักษาครั้นโตขึ้นจะกลับมาฆ่าเสียทำไมข้าพเจ้าย่อมกระทำประโยชน์แก่พระองค์ได้พระองค์จะให้ฆ่าลูกเสียแล้วจะอยู่กับคนอื่นที่มิใช่ลูกจะเป็นไปได้อย่างไรในที่สุดเขาก็คงจะฆ่าพระองค์เสียด้วยพราหมณ์ที่สังหารราชตระกูลจะถือว่าเป็นผู้มีคุณประโยชน์ได้อย่างไรพราหมณ์นั้นคือผู้เนรคุณ


พระราชาได้ฟังก็สลดพระทัยสั่งให้ปล่อยทุกชีวิตไปอีกครั้งแต่ครั้นพราหมณ์กัณฑหาลเข้ามากราบทูลก็ทรงเชื่ออีกพระจันทกุมารก็กราบทูลพระบิดาว่า 

   "ข้าแต่พระบิดาหากคนเราจะไปสวรรค์ได้เพราะการกระทำบูชายัญเหตุใดพราหมณ์จึงมิทำบูชายัญบุตรภรรยาของตนเองเล่าเหตุใดจึงได้ชักชวนให้คนอื่นกระทำในเมื่อพราหมณ์ก็ได้ทูลว่าคนผู้ใดทำบูชายัญเองก็ดีคนผู้นั้นย่อมไปสู่สวรรค์เช่นนั้นควรให้พราหมณ์กระทำบูชายัญด้วยบุตรภรรยาตนเองเถิด


ไม่ว่าพระจันทกุมารจะกราบทูลอย่างไรพระราชาก็ไม่ทรงฟังบุคคลอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากรวมทั้งพระวสุลกุมารผู้เป็นราชบุตรของพระจันทกุมารมาทูลอ้อนวอนพระเจ้าเอกราชาก็ไม่ทรงยินยอมฟัง 


ฝ่ายกัณฑหาลเกรงว่าจะมีคนมาทูลชักจูงพระราชาอีกจึงสั่งให้ปิดประตูวังและทูลเชิญพระราชาให้ไปอยู่ในที่อันคนอื่นเข้าไปเฝ้ามิได้เมื่อถึงเวลาทำพิธีมีแต่เสียงคร่ำครวญของราชตระกูลและฝูงชนที่ญาติพี่น้องถูกนำมาเข้าพิธี 


ในที่สุดนางจันทาเทวีผู้เป็นชายาของพระจันกุมารซึ่งได้พยายามทูลอ้อนวอนพระราชาสักเท่าไรก็ไม่เป็นผลก็ได้ติดตามพระจันทกุมารไปสู่หลุมยัญด้วยเมื่อกัณฑหาลนำถาดทองมาวางรอไว้และเตรียมพระขรรค์จะบั่นคอพระจันทกุมารพระนางจันทาเทวีก็เสด็จไปสู่หลุมยัญประนมหัตถ์บูชาและกล่าวสัจจวาจาขึ้นว่า

   "กัณฑหาลพราหมณ์เป็นคนชั่วเป็นผู้มีปัญญาทรามมีจิตมุ่งร้ายพยาบาทด้วยเหตุแห่งวาจาสัตย์นี้เทวดายักษ์และสัตว์ทั้งปวงจงช่วยเหลือเราผู้ไร้ที่พึ่งผู้แสวงหาที่พึ่งขอให้เราได้อยู่ร่วมกับสามีด้วยความสวัสดีเถิดขอให้พระเป็นเจ้าทั้งหลายจงช่วยสามีเราให้เป็นผู้ที่ศัตรูทำร้ายมิได้เถิด


เมื่อพระนางกระทำสัจจกริยาพระอินทร์ได้สดับถ้อยคำนั้นจึงเสด็จมาจากเทวโลกทรงถือค้อนเหล็กมีไฟลุกโชติช่วงตรงมายังพระราชากล่าวว่า 

   "อย่าให้เราถึงกับต้องใช้ค้อนนี้ประหารเศียรของท่านเลยมีใครที่ไหนบ้างที่ฆ่าบุตรภรรยาและเศรษฐีคหบดีผู้ไม่มีความผิดเพื่อที่ตนเองจะได้ไปสวรรค์จงปล่อยบุคคลผู้ปราศจากความผิดทั้งปวงเสียเดี๋ยวนี้


พระราชาตกพระทัยสุดขีดสั่งให้คนปลดปล่อยคนทั้งหมดจากเครื่องจองจำ


ในทันใดนั้นประชาชนที่รุมล้อมอยู่ก็ช่วยกันเอาก้อนหินก้อนดินและท่อนไม้เข้าขว้างปาทุบตีกัณฑหาลพราหมณ์จนสิ้นชีวิตอยู่ที่นั้นแล้วหันมาจะฆ่าพระราชาแต่พระจันทกุมารตรงเข้ากอดพระบิดาไว้ผู้คนทั้งหลายก็ไม่กล้าทำร้ายด้วยเกรงพระจันทกุมารจะพลอยบาดเจ็บในที่สุดจึงประกาศว่า

   "เราจะไว้ชีวิตแก่พระราชาผู้โฉดเขลาแต่จะให้ครองแผ่นดินมิได้" 


เราถอดพระยศพระราชาเสียให้เป็นคนจัณฑาลแล้วไล่ออกจากพระนครไปจากนั้นมหาชนก็กระทำพิธีอภิเษกพระจันทกุมารขึ้นเป็นพระราชาทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความยุติธรรม 


เมื่องทรงทราบว่าพระบิดาตกระกำลำบากอยู่นอกเมืองก็ทรงให้ความช่วยเหลือพอที่พระบิดาจะดำรงชีพอยู่ได้พระจันทกุมารปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดมาจนถึงที่สุดแห่งพระชนม์ชีพก็ได้เสด็จไปเสวยสุขในเทวโลกด้วยเหตุที่ทรงเป็นผู้ปกครองที่ดีที่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมไม่หลงเชื่อวาจาคนโดยง่ายและปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อตรง

 


 คติธรรมบำเพ็ญขันติบารมี

"เรื่องอาฆาตจองเวรนั้นย่อมให้ทุกข์กลับคืนแก่ตนในที่สุดและความเขลาหลงในทรัพย์และสุขของผู้อื่นก็ย่อมให้ผลร้ายแก่ตัวได้ในไม่ช้าเช่นกัน"



ที่มาเพจDhammathai.org

 

~~~~~~~~~~~~

แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)
ฉันคือพลังงานจลน์ พลวัตเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น..