ตามหลักพระพุทธศาสนา ศรัทธา(สันสกฤต: श्रद्धाศฺรทฺธา) หรือสัทธา(บาลี: สทฺธา) หมายถึง ความเชื่อ ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล
ในทางพระพุทธศาสนามี ๔ อย่าง คือ
- กัมมสัทธา เชื่อกรรมเชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริงคือเชื่อว่าเมื่อทำอะไรโดยมีเจตนาคือจงใจทำ ทั้งรู้ย่อมเป็นกรรม คือเป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตนเป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น
- วิปากสัทธา เชื่อวิบากเชื่อผลของกรรมเชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือเชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผลและผลต้องมีเหตุผลดีเกิดจากกรรมดีผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
- กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน
- ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคตว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรมบัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์คือเราทุกคนนี้หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุดบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้
ธรรมะที่เกี่ยวข้องศรัทธาหรือสัทธาเป็นองค์ประกอบในหลายๆ หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ได้แก่
- พละ ๕ และอินทรีย์ ๕ (สัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา)
- สมชีวิธรรม ๔ (สมสัทธาสมสีลาสมจาคาสมปัญญา)
- เวสารัชชกรณธรรม๕ (ศรัทธาศีลพาหุสัจจะวิริยารัมภะปัญญา)
- อริยวัฑฒิหรืออารยวัฑฒิ ๕ (ศรัทธาศีลสุตะจาคะปัญญา)
- อริยทรัพย์ ๗ (ศรัทธาศีลหิริโอตตัปปะพาหุสัจจะจาคะปัญญา)
- สัปปุริสธรรม ข้อแรกคือสัทธัมมสมันนาคโต ประกอบด้วยธรรมเจ็ดประการ อันได้แก่มีศรัทธามีหิริมีโอตตัปปะเป็นพหูสูตมีความเพียรอันปรารภแล้วมีสติมั่นคงมีปัญญา
หมายเหตุ : จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะขึ้นด้วยศรัทธาและมีปัญญากำกับอยู่ด้วย
ในคัมภีร์พระอภิธรรม มีการกล่าวถึงสัทธาในลักษณะที่เป็นเจตสิก(คือธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) เรียกว่าสัทธาเจตสิก มีลักษณะดังนี้ คือ
- มีความเชื่อในกุศลธรรม เป็นลักษณะ
- มีความเลื่อมใส เป็นกิจ
- มีความไม่ขุ่นมัว เป็นผล
- มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ เป็นเหตุใกล้
สัทธานี้จัดเป็นธรรมเบื้องต้นในอันที่จะทำให้บุคคลได้ประกอบคุณงามความดีเป็นบุญกุศลขึ้นมา และสัทธาที่จะเกิดขึ้นได้นั้นย่อมต้องอาศัยวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อได้แก่ พระรัตนตรัยผลของกรรม เป็นต้น สัทธานั้น เมื่อเกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดความผ่องใสไม่ขุ่นมัว สามารถดำเนินไปจนเข้าถึงปีติได้
เหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธา ได้แก่
- รูปปฺปมาณ เลื่อมใสศรัทธา เพราะเห็นรูปสมบัติสวยงาม
- ลูขปฺปมาณ เลื่อมใสศรัทธา เพราะเห็นความประพฤติเรียบร้อยเคร่งในธรรมวินัย
- โฆสฺปปมาณ เลื่อมใสศรัทธา เพราะได้ฟังเสียงอันไพเราะ
- ธมฺมปฺปมาณ เลื่อมใสศรัทธา เพราะได้สดับฟังธรรมของผู้ที่ฉลาดในการแสดง
ดูข้อมูลเพิ่ม..
- จากศรัทธาจนถึงการบรรลุสัจจะเก็บถาวร 2006-09-13 ที่เวย์แบ็กแมชชีน
อ้างอิง
- พระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ปยุตฺโต) "พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์".
- พระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ปยุตฺโต) "พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลธรรม".
- "พระอภิธัมมัตถสังคหะ" และ"อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา"