ในอังคุตรนิกายท่านได้อุปมาเปรียบชีวิตมนุษย์ไว้ ๗ ประการ ซึ่งแสดงให้เห็นความจริงของชีวิตที่ต้องเกิดดับ(เกิดมาแล้วย่อมต้องตาย) ช่วงแห่งการมีชีวิตอยู่นั้นสั้นนัก และเป็นของเล็กน้อยนิดหน่อย ในปัจจยาการที่ชีวิตจะต้องผ่านวัฏฏะต่อไป ดังนี้
๑. เปรียบด้วยน้ำค้างบนยอดหญ้า
เมื่อพระอาทิตย์อุทัยขึ้นมาแล้วน้ำค้างย่อมแห้งหายไปได้อย่างรวดเร็วไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน
๒. เปรียบด้วยฟองน้ำ
เมื่อฝนตกหนักหนาเม็ดฟองน้ำที่เกิดขึ้นจากหยาดฝนย่อมตั้งขึ้นแต่ก็แตกกระจายไปอย่างรวดเร็ว
๓. เปรียบด้วยรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ
เมื่อเราขีดไม้ลงไปในน้ำรอยนั้นย่อมกลับเข้ามาหากันอย่างรวดเร็วในพริบตาไม่ตั้งอยู่นาน
๔. เปรียบด้วยน้ำที่ไหลลงภูเขา
น้ำที่ไหลลงจากภูเขาย่อมมีกระแสเชี่ยวกรากพัดสรรพสิ่งที่พอจะพัดพาไปได้ไม่มีเวลาแม้แต่ขณะจิตเดียวที่กระแสน้ำจากภูเขาจะหยุดชะงักมีแต่จะไหลเรื่อยลงไปแต่ถ่ายเดียวไม่เคยหยุดยั้ง
๕. เปรียบเหมือนน้ำลายที่ถูกถ่มไป
เมื่อบุรุษผู้มีกำลังอมก้อนน้ำลายไว้ที่ปลายลิ้นความที่มีแรงกำลังทำให้เขาสามารถถ่มน้ำลายไปได้โดยง่าย
๖. เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่ถูกไฟเผาอยู่ตลอด
ชิ้นเนื้อที่ใส่ลงนาบในกระทะเหล็กถูกไฟเผาลนอยู่ตลอดวันย่อมจะถึงความย่อยยับแตกทำลายไปโดยเร็วไม่อาจจะตั้งอยู่ได้นาน
๗. เปรียบด้วยแม่โคที่ถูกเขาต้อนไปสู่ที่ฆ่า
แม่โคที่จะถูกเชือดย่อมถูกปฏักนายโคบาลไล่ต้อนให้ก้าวเท้าเดินเข้าไปสู่ที่ฆ่าใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ
ที่มา: หนังสือฐานสโมบูชา หน้า ๒๓๘- ๒๓