เพื่อยกระดับความรู้ สู่สังคมอุดมป้ญญา

กายนคร : นิทานปริศนาธรรม

1


ก า ย น ค ร

~~~~~~~~

โดย สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ป.ธ.๙ ) วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


มีเมืองหนึ่งชื่อว่า กายนคร (เมืองกาย) มีเนื้อที่ยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ กว้าง ๑ ศอก

มีกำแพง ๔ ชั้น ได้แก่

ชั้น ๑ ชื่อ โลมา 

ชั้น ๒ ชื่อ ตโจ 

ชั้น ๓ ชื่อ มังสะ 

ชั้น ๔ ชื่อ อัฎฐิ


มีประตู (ทวาร) ๙ แห่ง คือ

    จักษุทวาร ๒ เป็นประตูเข้ามหรสพ 

    โสตทวาร ๒ เป็นประตูเข้าเสียงต่างๆ 

    ฆานทวาร ๒ เป็นประตูระบายลมเข้าออก 

    มุขทวาร (ปาก) ๑ เป็นประตูเข้าเสบียงอาหาร 

    วัจจทวาร(ทวารหนัก) ๑ เป็นประตูระบายของโสโครก 

    ปัสสาทวาร ๑ เป็นประตูระบายน้ำโสโครก 


มีปราสาท ๕ หลัง คือ 

    จักษุประสาท เป็นที่ทอดพระเนตรมหรสพ

    โสตประสาท เป็นที่ทรงประทับสดับเสียงดนตรี 

    ฆานประสาท ที่ประทับประดับประดาพระวรกาย 

    ชิวหาประสาท ที่ประทับเสวยพระกระยาหาร 

    กายประสาท ที่ประทับบรรทมพักผ่อน 


ผู้สร้างกายนคร คือ พระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวี เมื่อสร้างแล้ว ทรงมอบให้พระราชโอรส คือเจ้าชายจิตตราช เป็นผู้ครอง 


เจ้าชายจิตตราช มีขุนนางผู้ใหญ่ ๔ คือ ขุนโลโภ ขุนราโค ขุนโทโส และขุนโมโห มีขุนคลัง ขื่อ ขุนมัจฉริยะ (ตระหนี่) เจ้ากรมวัง ชื่อขุนพยาบาท อำมาตย์ ชื่อขุนทิฎฐิมานะ (ดื้อรั้น)

ที่ปรึกษาใกล้ชิด ชื่อขุนมิจฉัตตะ (ความเห็นผิด) 


วันหนึ่งเจ้าชายจิตตราช ทรงรำพึงว่า เรามีเมืองกว้างขวาง มีพระราชวังสวยงาม มีพระราชทรัพย์บริบูรณ์แต่ยังไม่มีมเหสี


มิจฉัตตะอำมาตย์ จึงกราบทูลว่า มีเมืองหนึ่ง ชื่อ เมืองปัจจยาการนคร พระราชาผู้ครองเมือง นามว่าพระเจ้าเวทนา ทรงมีพระราชธิดา ๓ องค์ ชื่อ เจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา เจ้าหญิงอรดี ถ้าทรงปรึกษาพระบิดาพระมารดา ท่านอาจไม่เห็นด้วย ควรเสด็จไปโดยพระองค์เองโดยไม่ต้องทูลพระมารดาพระบิดา ข้าพระองค์จะตามเสด็จไปด้วย 


เป็นอันว่าเจ้าชายจิตตราชและอำมาตย์มิจฉัตตะก็หนีออกจากกายนครไป เจ้าชายจิตตราช ทรงม้าพระที่นั่ง ชื่ออิริยาบถ ส่วนอำมาตย์มิจฉัตตะขี่ม้าอีกตัวไป เดินทางจนถึงป่าใหญ่ ชื่อป่าวัฎฏะ (ป่าเวียนว่ายตายเกิด) ทางเข้าป่าพบศิลาจารึกความว่า


..พระเจ้าเวทนาผู้ครองเมืองปัจจยาการนคร มีพระราชธิดา ๓ องค์ ชื่อ เจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา และเจ้าหญิงอรดี ถ้าบุรุษใดมีปัญญาสามารถตอบปัญหา ๕ ข้อได้จะยกเจ้าหญิงทั้ง ๓ ให้เป็นมเหสีและให้ครองเมืองปัจจยาการนคร แต่ถ้าตอบไม่ได้ต้องเป็นทาสรับใช้เจ้าหญิงทั้งสาม..


เจ้าชายจิตตราชทรงดีพระทัย ว่ามีทางครองเจ้าหญิงงามทั้ง ๓ ระหว่างนั้นเองก็มีนางยักษ์ผู้เฝ้าป่าวัฎฏะ ชื่อนางยักษ์วัฎฏะทุกขี เมื่อเห็นผู้ล่วงล้ำเข้าเขตของตนจึงเข้าไล่จับมาเป็นอาหาร อำมาตย์มิจฉัตตะ เมื่อเห็นภัยมาจึงรีบขี่ม้าหนีทิ้งเจ้าชายจิตตราช ไว้เพียงลำพัง นางยักษ์วัฎฏะทุกขีเข้าขวางเจ้าชายจิตตราชไว้และบอกว่าท่านต้องเป็นอาหารของนางในวันนี้ เจ้าชายจิตตราช ตรัสตอบไปว่า  ท่านไม่อาจจับเรากินเป็นอาหารได้ เพราะเรามีฤิทธานุภาพมาก(มหิทธานุภาวํ) เราล่องหนหายตัวได้(อสรีรํ) มีกำลังไปทางไหนได้รวดเร็วทันใจ(ลหุกํ)  ไปทางบกทางน้ำทางอากาศไกลแค่ไหนก็ไปได้(ทูรงคมํ) ใครๆ ยากที่เห็นตัวเรา(สุทุททสํ) 


นางยักษ์วัฎฏะทุกขี กล่าวว่า ถึงท่านจะมีฤทธานุภาพอย่างไร ก็หนีไม่พ้นข้าพเจ้า อย่าว่าแต่ท่านผู้เป็นมนุษย์เลย แม้นาค ครุฑ เทวดา อินทร์ พรหม เมื่อหลงมาในป่าวัฎฏะ ก็ไม่พ้นอำนาจข้าพเจ้าที่สร้างทุกข์ให้แก่ทุกคนที่อยู่ในป่านี้ไปได้


ในขณะที่เจ้าชายจิตตราช จะเสียทีนางยักษ์วัฎฏะทุกขี พลันก็มีฤาษีตนหนึ่งมาช่วย ท่านชื่อฤาษีไตรลักษณญาณ ซึ่งอาศัยอยู่ ณ จิตตบรรพต ทรงทราบด้วยญาณ จึงเหาะมาช่วยเจ้าชายจิตตราช ฝ่ายนางยักษ์วัฎฏะทุกขี พอเห็นฤาษีมาตกใจเพราะเคยถูกฤาษีไตรลักษณญาณ ปราบปรามมาก่อน จึงรีบหายหนีไป เมื่อสนทนากับเจ้าชายจิตตราช ทราบวัตถุประสงค์การมาว่าจะไปตอบปัญหาเพื่อครองเจ้าหญิงงาม ๓ องค์ จึงทูลเจ้าชายจิตตราช ว่า

“เจ้าหญิงทั้ง ๓ องค์ท่านรู้จักดี เป็นคนสวยจริงแต่นิสัยไม่ดีทุกคน คือ เจ้าหญิงตัณหา มีนิสัยอยากได้ไม่รู้จักพอ ยิ่งได้มากยิ่งชอบ ไม่สนใจว่าจะได้มาทางดีทางชั่ว เอาทั้งนั้น เจ้าหญิงราคา มีนิสัยรักง่ายหน่ายเร็ว โลเลไม่แน่นอนเดี๋ยวรักคนนั้นคนนี้ เปลี่ยนรักเรื่อยไป เจ้าหญิงอรดี มีนิสัยริษยา ไม่อยากให้ใครได้ดี เห็นใครได้ดีก็ขัดขวาง ทำให้แตกสามัคคี” 


เมื่อเจ้าชายจิตตราช รู้ทันนิสัยไม่ดีของเจ้าหญิงทั้ง ๓ องค์ ก็เกิดเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด จึงขออยู่กับฤาษีที่จิตตบรรพต ได้เรียนพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และเจริญไตรลักษณญาณ รู้ ‘อนิจจํ ทุกขํ อนัตตา’ จนชำนาญ 


ฝ่ายอำมาตย์มิจฉัตตะ เมื่อขี่ม้าหนีภัยจากนางยักษ์วัฎฏะทุกขี ก็มิได้หนีไปไกล เมื่อเห็นเจ้าชายมีฤาษีมาช่วยก็ตามห่างๆ ไปจิตตบรรพต พอเห็นว่าเจ้าชายเปลี่ยนใจไม่ไปแก้ปัญหาเจ้าหญิงทั้ง ๓ ก็ร้อนใจ คิดจะหว่านล้อมเจ้าชายให้ไปแก้ปัญหาให้ได้ 


คืนหนึ่งได้โอกาสลอบไปพบเจ้าชายจิตตราชๆ เห็นอำมาตย์ตนสนิทก็ดีพระทัย มิจฉัตตะอำมาตย์แกล้งทูลเท็จว่า เมื่อเห็นนางยักษ์วัฎฏะทุกขีมาไล่จับ เห็นว่าเราสองคนเป็นมนุษย์คงสู้นางยักษ์ไม่ได้ ตนเองจึงรีบไปบอกให้ฤาษีมาช่วย เมื่อเห็นว่าเจ้าชายคล้อยตาม จึงกล่าวอีกว่า เมื่อไม่มีนางยักษ์รังควานแล้ว ถ้าพระองค์อยู่ที่นี่เรื่อยไปคงต้องแก่ตายบนภูเขานี่แน่ พระองค์ควรลาท่านฤาษีไปแก้ปัญหาเพื่อครองเจ้าหญิงงามดีกว่า อย่าบอกท่านฤาษีว่าไปแก้ปัญหาเพราะคงถูกห้าม ให้บอกว่าจะกลับไปกายนครที่จากมานาน 


เจ้าชายจิตตราช ทรงเชื่อมิจฉัตตะอำมาตย์ จึงตกลงพระทัยไปปัจจยาการนครให้ได้ ให้มิจฉัตตะซ่อนตัวไปก่อน ในวันรุ่งขึ้น เข้าไปทูลลาท่านฤาษีว่าจะกลับกายนครพบพระมารดาพระบิดาเพราะจากมานาน แต่ท่านฤาษีทราบด้วยญาณ จึงกล่าวว่า ”ท่านรู้ว่าเจ้าชายจะไปเมืองปัจจยาการนคร ไม่ต้องโกหก” 


เจ้าชายรับว่าจริงจึงกราบขออภัย ท่านฤาษีจึงทูลว่า เมื่อพระองค์ตั้งใจไปแก้ปัญหาจริงๆก็ไม่อาจห้ามได้ และจะมอบแว่น วิชชามัย ( ความรู้แจ้ง ) ให้ หากแก้ปัญหาไม่ได้ให้ส่องแว่นนี้ดูก็จะทราบคำตอบ แต่ห้ามบอกใครเป็นอันขาดว่า มีแว่นวิเศษ ถ้าบอกใครไปจะมีภัยอันตราย

 

จากนั้นเจ้าชายจิตตราชกราบลาท่านฤาษี ขี่ม้าอิริยาบทมาสมทบกับมิจฉัตตะอำมาตย์แล้วไปจนถึงปัจจยา-การนคร ก็ปลอมพระองค์แต่งากายแบบชาวบ้านเข้าไปขออาศํยที่พักของยายมายาวี (เจ้าเล่ห์) ผู้เฝ้าราชอุทยานและถามเรื่องการไปแก้ปัญหา


วันต่อมา เจ้าชายจิตตราชลายายมายาวี ไปแก้ปัญหาที่โรงมณฑป เมื่อรับอาสาแก้ปัญหาตามกติกาที่วางไว้แล้ว พระเจ้าเวทนาจึงรับสั่งให้เจ้าหญิงเริ่มถามปัญหา


คำถามที่ ๑ :

เจ้าหญิงตัณหาถามว่า “ทำไมคนตายแล้วจึงถูกผูกตราสัง ๓ เปลาะ คือ ที่คอ ๑ ที่มือทั้งสอง ๑ ที่เท้าทั้งสอง ๑ “


เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้ จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า เป็นปริศนาธรรมสอนคนให้รู้ว่า

ห่วงผูกคอ หมายถึงมีบุตรเหมือนมีห่วงผูกคอ

ห่วงผูกมือ หมายถึงมีคู่ครองเหมือนมีห่วงผูกมือ

ห่วงผูกเท้า หมายถึงมีทรัพย์สมบัติเหมือนมีห่วงผูกที่เท้า 


ดังภาษิตว่า

“ปุตโต คีเว มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ

ธนัง ปาเท ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้

ภริยา หัตเถ ภรรยา(สามี)เยี่ยงอย่างปอ รึงรัด มือนา สามบ่วงนี้ใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร”


คำถามที่ ๒ :

เจ้าหญิงราคาถามว่า “ไฟอะไร ร้อนที่สุดในโลก”


เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้ จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า  “ไฟ ๓ กอง คือ 

ราคัคคิ ไฟ คือ ราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) 

โทสัคคิ ไฟ คือโทสะ ( ความประทุษร้าย )

โมหัคคิ ไฟ คือ โมหะ ( ความหลงใหล ) 

ไฟ ๓ กองนี้ ร้อนที่สุดในโลก”


คำถามที่ ๓ :

เจ้าหญิงอรดีถามว่า “ในโลกนี้อะไร เที่ยงที่สุด”


เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้ จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า ”ความตายเป็นของเที่ยง (ธุวํ มรณํ ความตายเป็นของเที่ยง)”


คำถามที่ ๔ :

เจ้าหญิงตัณหาถามว่า “ในโลกนี้อะไร หนักที่สุด”


เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้ จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า ”ขันธ์ ๕ เป็นของหนักที่สุด (ภารา หเว ปัญจักขันธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระที่หนักแท้)


เจ้าชายจิตตราชก็ต้องยอมตามเพราะเป็นพระราชบัญชา แต่ในใจอยากจะตอบปัญหาข้อที่ ๕ ให้เสร็จจะได้เชยชมเจ้าหญิงงามทั้งสามให้สมใจ แล้วจำใจกลับไปที่พักของยายมายาวีอีกคืน 


เมื่อพระเจ้าเวทนากลับพระราชวังแล้วรับสั่งให้พระราชธิดาทั้งสามเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า

”วันนี้มีพระราชสาส์นจากพระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวีแห่งกายนคร มาสู่ขอเจ้าทั้งสามให้เป็นมเหสีของเจ้าชายจิตตราชผู้เป็นพระราชโอรส พ่อเห็นว่าเป็นวงศ์ที่สมควรกันที่จะยกให้ แต่วันนี้เจ้ามานพหนุ่มคนนั้นไม่รู้เป็นใครมาจากไหน ตอบปัญหาของเจ้าอย่างถูกต้องทั้ง ๔ ข้อ พ่อจึงไม่สบายใจ เพราะหากตอบถูกครบ ๕ ข้อ พ่อก็ต้องยกเจ้าทั้งสามให้เพราะพ่อเป็นกษัตริย์ตรัสแล้วย่อมไม่คืนคำ แล้วพ่อจะหาลูกสาวที่ไหนไปยกให้เจ้าเมืองกายนคร ดังนั้นพ่อจึงให้หยุดปัญหาข้อ ๕ ไว้ก่อนเพื่อให้ทางทางแก้ไข เจ้าทั้งสามจะมีวิธีแก้อย่างไร?”


เจ้าหญิงทั้งสาม จึงทูลว่า  หม่อมฉันจะแก้ไขไม่ให้ต้องตกเป็นภรรยาชายแปลกหน้าให้จงได้ ขอเสด็จพ่ออย่าได้กังวลพระทัยเลย เจ้าหญิงทั้งสามให้คนสนิทสืบดูรู้ว่าชายแปลกหน้าพักที่กระท่อมยายมายาวี ผู้เฝ้าราชอุทยาน จึงรับสั่งให้เรียกยายมายาวีเข้าเฝ้ารับสั่งให้ยายมายาวีไปสืบมาว่าชายแปลกหน้ามีอะไรดีจึงตอบปัญหาถูกต้องแล้วรีบนำมาบอก ยายมายาวีไปทำยกย่องเจ้าชายจิตตราชที่ตอบปัญหาเก่งแล้วถามว่า มีอะไรดีหรือพ่อหนุ่มรูปงาม ? 


เจ้าชายจิตตราชไม่ยอมบอกแม้ยายมายาวีจะอ้อนวอนอย่างไรก็ตาม เพราะทำตามที่ท่านฤาษีไตรลักษณญาณกำชับไว้  ยายมายาวีจึงลอบมาหามิจฉัตตะ ยกยอ หว่านล้อมจนทราบเรื่องแว่นวิชชามัย แล้วรีบนำไปกราบทูลเจ้าหญิงทั้งสาม


ในคืนนั้นเองเจ้าหญิงทั้งสาม แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างงดงามที่สุดไปหาเจ้าชายจิตตราช ณ เรือนที่พักและใช้มารยาสตรีออดอ้อนว่าที่นางทั้งสามตัดความอายมาหาถึงที่พักก็เพราะว่าความรักนำมา รักตั้งแต่แรกเห็น จนไม่อาจทนอยู่ได้ เจ้าชายจิตตราชหลงเชื่อคำสตรีจึงตรัสตอบทำนองว่า พระองค์ก็รักเจ้าหญิงทั้งสามตั้งแต่แรกเห็นเช่นกัน เจ้าหญิงทั้งสามได้โอกาสจึงรุกต่อไปว่า ถ้ารักจริงจะต้องให้ของเป็นที่ระลึกสักอย่าง 


เจ้าชายจิตตราชรู้ไม่ทันจึงตรัสว่า ของที่ขอถ้ามีอยู่ก็จะให้ เจ้าหญิงทั้งสามยิ้มแล้วรุกฆาตต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นขอ แว่นวิชชามัย ก็แล้วกัน เจ้าชายจิตตราชทรงตกพระทัย กล่าวว่า ที่เราตอบปัญหาถูกต้องก็เพราะแว่นนี้ หากไม่มีเราก็ตอบไม่ถูก การแก้ปัญหาเหลือข้อที่ ๕ ขอเก็บแว่นนี้อีกวัน เมื่อตอบปัญหาข้อที่ ๕ ถูกแล้วจะยกให้ทันที เจ้าหญิงลวงว่า พรุ่งนี้จะถามเหมือนเดิม จะไม่ถามเรื่องอื่น ทั้งนี้เพราะความรักแรกพบ เจ้าชายจิตตราชทรงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงมอบแว่นวิชชามัยให้


วันต่อมา เมื่อถึงเวลาถามปัญหาข้อที่ ๕  


คำถามที่ ๕ : 

เจ้าหญิงราคาถามว่า “คนที่เกิดมาล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ ต้องแก่ เจ็บ ตาย ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ไปได้”


เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้ เพราะไม่มีแว่นวิชชามัย จึงต้องตกไปเป็นทาสรับใช้ โดยไม่กล้าบอกว่าตนเป็นพระราชโอรสแห่งกายนคร เพราะจะเสื่อมเสียชื่อเสียง อับอายของราชวงศ์ได้


จะกล่าวถึง พระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวีแห่งกายนคร เมื่อส่งสาส์นสู่ขอพระราชธิดาแห่งปัจจยาการนคร ก็มิได้บอกให้พระราชโอรสทราบเมื่อจวนถึงกำหนดวันอภิเษกสมรส จึงตรัสรับสั่งให้เจ้าชายจิตตราชเข้าเฝ้า เมื่อทราบว่าไม่อยู่ที่พระราชวังหลายวันแล้ว รับสั่งให้ราชบุรุษตามหาก็ไม่เจอ ทรงวุ่นวายหทัย จึงจัดขบวนเสด็จไปยังปัจจยาการนครเพื่อปรึกษากับพระเจ้าเวทนา และปรารถว่าเจ้าชายจิตตราชอาจลอบมาแก้ปัญหาโดยไม่บอกให้ใครทราบ  ดังนั้นพระเจ้าเวทนาจึงรับสั่งให้นำทาสรับใช้พระธิดาทั้งสาม ออกมาเดินให้พระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวีทอดพระเนตร เมื่อเห็นเจ้าชายจิตตราชเดินในขบวนทาส จึงตรัสบอกพระเจ้าเวทนาๆ รีบรับสั่งราชบุรุษให้เชิญมาเข้าเฝ้าแล้วขออภัยเพราะไม่ทราบมาก่อน จากนั้นจึงจัดพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายจิตตราชและเจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา เจ้าหญิงอรดี อย่างสมพระเกียรติแล้วกลับไปครองกายนครสืบไป


จะกล่าวถึง พระยามัจจุราช ผู้ครองเมืองมรณานคร มีแม่ทัพใหญ่ คือ หลวงชาติ หลวงชรา และหลวงพยาธิ เมื่อทรงทราบว่าเจ้าชายจิตตราชครองกายนคร รุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จึงส่งกองทัพทั้งสามที่มีหลวงชาติ หลวงชรา และหลวงพยาธิไปโจมตีกายนคร เจ้าชายจิตตราชเมื่อเห็นกองทัพล้อมเมือง จึงส่งข่าวไปถึงพระสหายให้มาช่วยรบทัพ คือ พระยาโอสถ ครองเมืองเภสัช ถือเฉลว (ไม้ปักปากหม้อยา) เป็นอาวุธ พระยาโอสถ ก็ส่งกองทัพเภสัชมาโจมตี สามทัพของพระยามัจจุราชให้แตกพ่ายไป


พระยามัจจุราชพิโรธหนักหนาจึงยกทัพหลวงมาเอง โจมตีกองทัพเภสัชและกองทัพกายนครแตกพ่ายไป พระเจ้าจิตตราชจึงพาพระมารดาพระบิดาและมเหสีทั้งสามหนีออกจากกายนคร ไปสร้างเมืองใหม่ ชื่อกายนครเหมือนเดิม พระยามัจจุราชทราบว่าพระเจ้าจิตตราชไปสร้างเมือง กายนครใหม่ ก็ยกทัพไปตีแตกอีก เป็นเช่นนี้หลายหน พระเจ้าจิตตราช สร้างเมือง กายนครอีกก็ทรงรำลึกถึง ฤาษีไตรลักษณญาณๆ ทราบด้วยญาณจึงเหาะมาหาพระเจ้าจิตตราชแล้วทูลว่า การที่พระองค์สร้างกายนคร นั้นไม่มีทางต้านกองทัพพระยามัจจุราชได้ พระองค์ต้องสร้างเมืองใหม่ชื่อ อมตมหานฤพานนคร จึงสามารถป้องกันพระยามัจจุราชได้ เพราะพระยามัจจุราชไม่รู้ มองไม่เห็นว่าอมตมหานฤพานนคร ตั้งที่ไหน จึงไม่อาจยกทัพมาราวีได้ แต่การสร้างอมตมหานฤพานนคร นั้นต้องดำเนินการดังนี้ 

* สร้างอาวุธ ๓ อย่าง คือ สุตาวุธ (การฟังธรรม) วิเวกาวุธ (ความสงบกายสงบใจ) ปัญญาวุธ (ความรอบรู้ในกองสังขาร) 

* สร้างรถอริยมรรค ๘ (ทางประเสริฐ ๘) 

* ต้องตัดใจทิ้ง พระบิดาพระมาดา พระมเหสี เพราะ รถอริยมรรค ๘ ขับขี่ได้เฉพาะคน และไม่อาจพาใครๆข้ามแม่น้ำสงสารสาคร ไปได้ ถ้าขืนพาใครไปด้วยจะต้องล่มจมใน สงสารสาครแน่นอน


พระเจ้าจิตตราชทรงรับคำว่าจะปฏิบัติตามคำสอนของฤาษีไตรลักษณญาณ ทุกประการ ท่านฤาษีจึงสอนให้สร้างอาวุธทั้งสามและรถอริยมรรค ๘ และสอนฝึกขับขี่รถให้คล่องแคล่ว 


พระยามัจจุราชทราบว่าพระเจ้าจิตตราชจะสร้างเมืองใหม่จึงยกทัพมาตีอีก พระเจ้าจิตตราชทรงถืออาวุธ ๓ ขับรถอริมรรค ๘ แล่นออกจากกายนครไปถึง สงสารสาคร ก็ขับขี่รถอริมรรค ๘ ข้ามแม่น้ำไปได้ ฝ่ายพระเจ้าอวิชชา พระนางโมหาราชเทวีและเจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา เจ้าหญิงอรดีทราบว่าพระเจ้าจิตตราชหนีออกจากกายนครก็รีบตามไป พอถึงสงสารสาครก็ไม่อาจข้าม ได้แต่ร้องเรียกให้พระเจ้าจิตตราชกลับมารับไปด้วย


พระเจ้าจิตตราชเด็ดเดี่ยวไม่กลับมารับ ขอลาไปก่อนแล้วไปสร้าง อมตมหานฤพานนคร 


พระยามัจจุราชไม่ทราบว่าพระเจ้าจิตตราชไปสร้างเมืองที่ไหน จึงไม่อาจยกกองทัพชาติ กองทัพชรา กองทัพพยาธิไปราวีได้ 


พระเจ้าจิตตราชจึงทรงเสวยบรมสุขอยู่ในอมตมหานฤพานนคร อย่างที่ไม่มีที่ใดเปรียบปานตราบกาลนาน. 


— จบ —

แสดงความคิดเห็น

1ความคิดเห็น
  1. อ่านเข้าใจง่าย, เหมาะสำหรับท่านที่มีอายุ 20+ ขึ้นไป

    ตอบลบ
แสดงความคิดเห็น
ฉันคือพลังงานจลน์ พลวัตเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น..