พระพุทธรูปที่สื่อสัญญะในพุทธศาสนาแบบตันตระ
..พอมีข่าวพระบางรูปในพุทธศาสนานิกายเถรวาทเสพกามมั่วกับสีกาปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อโซเชียลทุกครั้งมักสร้างความเสื่อมศรัทธาให้บังเกิดกับชาวพุทธสมัยใหม่ไม่น้อย..
เรื่องนี้ทำให้ผม(เจ้าของเนื้อหา)นึกถึงพระพุทธรูปปางหนึ่งในพุทธศาสนานิกายวัชรยาน(Vajrayana) หรือตันตระยาน(Tantrayana) ที่เป็นปางเสพสังวาสระหว่างชายและหญิงโดยมีหญิงสาวนั่งคร่อมอยู่บนตักของพระพุทธรูปผู้ชายในท่าทางที่กำลังเสพสังวาสกันอยู่พระพุทธรูปบางนี้เรียกกันว่า “ยับยุม” (Yab-Yum)
ชาวพุทธไทยเห็นพระพุทธรูปบางนี้แล้วอาจให้รู้สึกโกรธขึ้นในใจตนว่า"นี่ช่างเป็นการหมิ่นพุทธศาสนาอย่างแรงเสียนี่กระไรจึงคิดสาปแช่งว่าใครหนอที่ใจบาปหยาบช้าดูหมิ่นพุทธศาสนาได้ถึงขนาดนี้"
แต่ก็หารู้ไม่ว่าพระพุทธรูปปางที่มีหญิงสาวนั่งคร่อมบนตักโดยอาการของการกำลังเสพสังวาสนั้นเป็นของพุทธศาสนาแบบตันตระซึ่งถือเป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนามหายานที่แพร่หลายอยู่ในอินเดียทิเบตภูฏานและเนปาลโดยมีมานานตั้งแต่ พ.ศ. 600-900 หรือกว่า1,200 ปีแล้ว
"ตันตระ" (Tantra) หมายถึงความรู้และการริเริ่มแบบที่ให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางร่างกายในท่าทางต่างๆเรียกว่า"ปาง"
ความเชื่อแบบตันตระนี้ได้เริ่มเกิดมีขึ้นตั้งแต่ยุคพระเวทของอินเดียโบราณแล้วโดยพราหมณ์ได้แต่งคัมภีร์ส่วนที่เรียก“อาถรรพเวท” อันเป็นพระเวทที่ 4 ขึ้นหลังจากได้แต่งคัมภีร์“ฤคเวทยชุรเวทและสามเวท” ที่เรียกกันว่า“ไตรเพท” ขึ้นเอาไว้ก่อนคัมภีร์อาถรรพเวทนี่เองถือเป็นจุดกำเกิดของแนวคิดแบบตันตระขึ้นในยุทธภพทางความเชื่อของอินเดีย
แนวคิดแบบตันตระเช่นว่านี้ต่อมาได้เข้ามาปะปนอยู่กับลัทธิบูชาเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในไวษณพนิกายไศวนิกายและศักตินิกายโดยเฉพาะ "ศักตินิกาย" นั้นถือว่าเป็นนิกายให้การเทิดทูนเทวสตรีเช่นพระแม่อุมาพระลักษมีพระสุรัสวดีมากโดยให้ความสำคัญกับอิตถีเพศเป็นพิเศษผ่านการเคารพบูชา "โยนี" (อวัยวะเพศหญิง)ของผู้หญิงเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตต่างๆในจักรวาลควบคู่กับ “ศิวลึงค์” (อวัยวะเพศผู้ชาย)
พวกที่นับถือลัทธิศักติได้นำเอาแนวคิดแบบตันตระมาปฏิบัติโดยแบ่งเป็น 2 พวกคือ
- ทักษิณาจาริณ เป็นพวกที่บูชาเทพและเทวีอย่างสุภาพ กับ
- วามจาริณ เป็นพวกที่บูชาเทพและเทวีด้วยการประกอบพิธีกรรมลับเช่นพิธีกาฬจักรบูชาเพื่อสรรเสริญศักติของพระแม่อุมาในปางเป็นพระแม่กาลีและพระแม่ทุรคาโดยวิธีเอาเลือดของมนุษย์และสัตว์มาใช้บูชายัญใช่แต่เท่านี้ยังมีพิธีการใช้พรหมจรรย์ของหญิงสาวมาเป็นเครื่องบูชาด้วยโดยเชื่อว่าเป็นการแสดงออกทางร่างกายเพื่อให้ศักตินั้นโปรดปราน
หลักปฏิบัติของตันตระยึด“หลัก 5 ม” เหล่านี้เป็นสำคัญ คือ:
1) มัตยะ การเสพเครื่องดองของมึนเมา
2) มังสะ การบริโภคเนื้อสัตว์สดๆ
3) มัสยา การบริโภคเนื้อปลาสดๆ
4) มุทรา การแสดงท่วงท่าโลมเร้าให้กำหนัด
5) เมถุน การเสพกามระหว่างชายและหญิง
เมื่อพุทธศาสนาได้แตกนิกายแบ่งออกเป็น 2 นิกายหลักได้แก่ เถรวาทหรือหินยานและอาจารยวาทหรือมหายานแนวคิดแบบตันตระที่ว่านั้นก็ได้ถูกนำเข้ามาผสมผสานกับฝ่ายพุทธแบบมหายานจนเกิดเป็นลัทธิตันตรยานขึ้นและได้ริเริ่มสร้างรูปเคารพในลักษณะที่แปลกกว่านิกายเถรวาทโดยนำเอาเรื่องความศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์มาทำให้ปรากฏในการสร้างพระพุทธรูปด้วยจนบางกลุ่มถูกเรียกว่า"นิกายมนตรยาน" ลัทธิตันตระนี้จะเน้นการให้สำคัญกับเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิงคือนับถือบูชาพระชายาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ดังนั้นเทพเจ้าในคติความเชื่อของลัทธิตันตระโดยเฉพาะพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายจึงถูกสร้างให้มี"ทาระ" หรือ“คู่ครอง” ที่เรียกว่า“ตารา” หรือ“โยคินี” ผู้ที่กำลังสวมกอดหรือนั่งคร่อมอยู่บนตักแบบเป็นคู่คล้ายดังคติความเชื่อการบูชาโยนีกับศิวลึงค์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูซึ่งเรียกว่า“ยับยุม” (Yab-Yum)
..พระพุทธรูปปางยับยุม(Yab-Yum) ที่ปรากฏให้เห็นได้ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาแบบตันตระหรือวัชรยาน ซึ่งก็คือพระพุทธรูปปางที่มีหญิงสาวนั่งคร่อมอยู่บนตักของพระผู้ชายนั้นเอง..
นั่นใช่ใครอื่น คือพระชายาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ โดยพระพุทธรูปปางยับยุมนี้เป็นแนวคิดเชิงเปรียบเทียบที่สื่อถึงเรื่องหนทางสู่นิพพานโดยใช้วิธีการแบบคนคู่หรือเมถุนซึ่งจะต้องเสพกิเลสทุกชนิดจนให้เกิดความเบื่อหน่ายจากนั้นจึงค่อยคลายกิเลสในที่สุดแล้วก็จะพบกับความหลุดพ้นคือ“นิพพาน” ได้
ในทิเบตและประเทศแถบเอเชียใต้พระพุทธรูปปางยับยุมนี้ถูกใช้เป็นสัญญะที่:
1) สื่อถึงความเป็น"พ่อ" (Father) และ"แม่" (Mother) ในเชิงแนวคิดที่จะร่วมเพศกันหรือประกอบกิจร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งมีชีวิตหนึ่งๆขึ้น
2) ถือเป็นตัวแทนระหว่างสิ่งคู่คือ"ปัญญา" (Wisdom)ที่แสดงถึงเพศชาย(พระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์) และ"กรุณา" (Compassion) ที่แสดงถึงเพศหญิง(ทาระหรือคู่ครองที่เรียกว่า“ตารา” หรือ“โยคินี”) ซึ่งต้องมีควบคู่กันเพื่อให้บรรลุธรรมคือนิพพาน
3) มิใช่สื่อถึง"ปัญญา" และ"กรุณา" ที่แทนค่าด้วยเพศชายและเพศหญิงทั้ง2 ประการนั้นเท่านั้นแต่ยังสื่อถึง"ดวงตา" และ"แขนขา" ที่หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้วก็จะไม่สามารถทำอะไรได้โดยสะดวกดังนั้นทั้งสองสิ่งนั้นจึงต้องทำงานร่วมกันแบบรวมกันเป็นหนึ่งเดียว(เอกีภาพหรือเอกัคคตาจิต) เพื่อการตรัสรู้ที่สมบูรณ์แบบได้
โดยสรุป สัญญะของ“ยับยุม” ทั้งในแบบ“รูปสัญญะ” และ“ความหมายสัญญะ” ก็คือพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์เปรียบดัง’ปัญญา’ พระชายาเปรียบดัง’กรุณา’ กรุณาเปรียบเหมือน’แขนขา’ ปัญญาเปรียบเหมือน’ดวงตา’ หากขาดดวงตาเสียแล้วแขนขาก็จะกระทำการอย่างมืดบอดหากขาดแขนขาเสียแล้วดวงตาก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ดวงตาและแขนขาต้องทำงานร่วมกันแบบเป็นหนึ่งฉันใดปัญญาและกรุณาก็ต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวฉันนั้นหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็ยากจะตรัสรู้ได้
จากสัญญะของ“ยับยุม” ที่กล่าวมานั้นแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาแบบตันตระของฝ่ายมหายานมีทัศนะในเชิงบวกต่อเรื่องเพศหรือการเสพกามจึงสอนให้สาวกเข้าหากามคุณหรือธรรมของคนคู่(เมถุนธรรม)ด้วยสติดังนั้นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนที่รักษาศีล5 จึงสามารถมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองของตนได้มิได้ถือว่าเป็นการละเมิดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่ที่ห้ามไว้ในศีลข้อ3 ก็เพียงหมายถึงการการมีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสเท่านั้นโดยมีอุปมาเปรียบว่าเพื่อจะเอาน้ำที่เข้าหูออกจากหูเราต้องกรอกน้ำเข้าไปในหูและหนามยอกก็ต้องเอาหนามบ่งออกดังนั้นในการเอาชนะกามคุณผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องรู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของกามถ้าเราไม่รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของกามแล้วก็จะไม่อาจอยู่เหนือมันได้เลย
หลายท่านอ่านแล้วก็ยังงงอยู่การจะออกจากกามหรือหลุดพ้นจากกามในที่สุดได้จะต้องเกี่ยวข้องกับการเสพกามอย่างไร? ผมขอเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังก็แล้วกันนะครับเรื่องมีอยู่ว่าในการสอนพุทธปรัชญาที่มจร. หน่วยวิทยบริการวิทยาเขตขอนแก่นวัดอภิสิทธิ์หลายปีมาแล้วผมได้พูดถึงหลัก5 ม(มอักษรตัวต้นของคำเรียกแต่ละคำ5 คำ)ในพุทธศาสนาแบบตันตระให้นิสิตฟังซึ่งว่าด้วยเรื่องการกินของมึนเมา(มัตยะ) การกินเนื้อดิบ(มังสะ) การกินปลาดิบ(มัสยา) และการแสดงท่าต่างๆเย้ายวนให้กำหนัดกล้า(มุทรา) จากนั้นจึงมีการเสพกาม(เมถุน) เพื่อให้เกิดความหลุดพ้น(นิพพาน) ในที่สุดก็จึงถามนิสิตขึ้นว่าการร่วมเพศจะเกี่ยวอะไรด้วยกับการหลุดพ้นหรือ? ซึ่งนิสิตท่านหนึ่งก็พูดขึ้นว่าอาจารย์การร่วมเพศก็ต้องใช้สมาธิแบบมีใจมั่นจดจ่อเป็นหนึ่งเดียวและไม่มีอะไรมาขัดทำให้สมาธิหลุดไปได้นะครับจึงนำไปสู่การร่วมเพศกันของคนคู่จนถึงจุดสุดยอดได้ในที่สุดเมื่อนิสิตพูดขึ้นเท่านี้แหละครับผมก็เกิด“ซาโตริ” หรือ“Get idea” แบบ“ปิ๊งแว้บ” ขึ้นในหัวทันทีโดยขออธิบายเป็นเชิงเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ดังนี้
การปฏิบัติตาม“หลัก5 ม” ดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นเรื่องว่าด้วยการสร้างอุปมาอุปไมยเชิงปฏิบัติในแนวคิดระหว่างการ"เสพกามจริง" เพื่อความถึงจุดสุดยอดในทางโลกกับการ"ปฏิบัติธรรม" เพื่อการบรรลุถึงการหลุดพ้นที่เรียกว่านิพพานในทางธรรมโดยเริ่มจากการนำเอาการดื่มกินของมึนเมา(มัตยะ) การกินเนื้อดิบ(มังสะ) และการกินปลาดิบ(มัสยา) มาเปรียบกับเรื่องของการกระทำร่างก่ายให้พร้อมและมีพลังคึกในทางปฏิบัติจากนั้นจึงมาถึงตอนของการมีจิตใจจดจ่อแบบมีสมาธิเป็นหนึ่งเดียว(เอกัคคตาจิต) ต่อเรือนร่างของคู่เสพกามของตนด้วยท่วงท่าโลมเร้าต่างๆให้เกิดความกำหนัดกล้าซึ่งเรียกว่า“มุทรา” ต่อแต่นั้นก็ถึงตอนการร่วมเพศกันจริงของคนคู่ที่จะต้องทำงานอย่างประสานกันเป็นหนึ่งเดียวแบบเอกีภาพหรือเอกัคคตาจิตของคนคู่คือผู้ชายและผู้หญิงจนกว่าจะบรรลุถึง“จุดสุดยอด” (Orgasm)ของการร่วมเพศได้ในที่สุดอันถือว่าเป็นจุดของความสุขสุดยอดจากการร่วมเพศในแบบตัวเกร็ง ตัวเบาหวิวสามารถปลดปล่อยความทุกข์ทางโลกของตนได้ในแบบชั่วคราวจนกว่าจะมีความอยากขึ้นมาใหม่อีกครั้งอันภาวะของการบรรลุถึงจุดสุดยอดจากการร่วมเพศด้วยเอกัคคตาจิตแล้วจึงพบกับจุดสุดท้ายแห่งความสุขสุดยอด
ดังนั้นการร่วมเพศดังกล่าวในทัศนะของพุทธศาสนาแบบตันตระนั้นอาจอุปมาเปรียบเทียบได้กับการหลุดพ้นแท้จริงจากทุกข์แบบถาวรในทางธรรมที่เรียกว่า“นิพพาน” ที่มีพื้นฐานมาจากการมีสมาธิแบบแน่วแน่เป็นหนึ่งเดียวหรือเอกัคคตาจิตได้ ซึ่งจะทำให้ได้พบกับความสุขแบบสมบูรณ์แบบได้ไม่มากก็น้อย
บรมสุขตามพุทธศาสนาแบบตันตระโดยอุปมาอุปไมยนั้นคือการบรรลุถึงจุดสุดยอดผ่านการร่วมเพศของคนคู่ผมไม่รู้ว่าพระท่านศึกษาพุทธศาสนาแบบตันตระและเห็นพระพุทธรูปแบบยับยุมแล้วจึงคิดเลียนแบบในทางลับบ้างหรือว่าสัญชาตญาณของความเป็นชายของพวกท่านเรียกร้องเพื่อต้องการปลดปล่อยหรือไม่ก็พวกท่านคิดว่าเถรวาทสามารถกระทำเหมือนกับมหายานแบบตันตระก็ได้มั้ง?
ขอโทษนะ....พวกท่านบวชมามีความคิดและได้กระทำอย่างนั้นตามแนวปฏิบัติผิดนิกายแล้วล่ะครับ!
ขอบคุณเนื้อหา : ผศ.ดร.อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน
ที่มาภาพ : พระพุทธรูปปางยับยุมจากInternet(ใช้ประกอบเพื่อการศึกษาเท่านั้น)
~~~~~~~~~~~