บุญ(บาลี: ปุญฺญ) หรือบุณย์(สันสกฤต : ปุณฺย) หมายถึง ความดี ความประพฤติชอบทางกายวาจาและใจเรียกอีกอย่างว่า ‘กุศล’ ในพระไตรปิฎกมักใช้คำว่า ‘ปุญฺญ’ ตรงกันข้ามกับคำว่า ’บาป’ หรือ ’อปุญฺญ’ แต่ในคัมภีร์ชั้นหลังมักใช้คำว่าบาปมากกว่า ในอรรถกถากล่าวถึงการเผื่อแผ่บุญไว้ว่าสามารถเผื่อแผ่เพิ่มให้แก่ผู้อื่นได้โดยไม่มีประมาณ เปรียบได้กับการจุดเทียนส่งต่อไปเรื่อยๆ คือผู้จุดก็มีความสว่างอยู่ตามเดิมและความสว่างยังเพิ่มไปอีกกว้างขวางได้
ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ระบุวิธีการทำบุญไว้ 3 อย่างเรียกว่า ‘บุญกิริยาวัตถุ’ ได้แก่
- ทานมัย ด้วยการให้
- ศีลมัย ด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดี มีระเบียบวินัย
- ภาวนามัย ด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจ
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาสังคีติสูตร ขยายความเพิ่มอีก 7 ประการ จึงรวมเป็นบุญกิริยาวัตถุ 10 ได้แก่
- อปจายนมัย ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมเคารพสุภาพมีมารยาท
- เวยยาวัจจมัย ด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยแรงกายแรงปัญญาและอื่นๆที่ไม่ใช่วัตถุ
- ปัตติทานมัย ด้วยการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้อื่นหรือการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่นให้เป็นผู้มีส่วนในบุญของตนด้วยการชักชวนผู้อื่นมาทำบุญและการอุทิศส่วนกุศลมีการแผ่เมตตาเป็นต้น
- ปัตตานุโมทนามัย ด้วยการอนุโมทนายินดีในการทำความดีของผู้อื่น
- ธัมมัสสวนมัย ด้วยการฟังธรรมศึกษาธรรม
- ธัมมเทสนามัย ด้วยการสั่งสอนธรรมและการให้ความรู้
- ทิฏฐุชุกัมม์ ด้วยการทำความเห็นให้ตรง
- เวยยาวัจจมัย และธัมมเทสนามัย จัดเข้าใน-> ทานมัย
- อปจายนมัย และปัตตานุโมทนามัย จัดเข้าใน-> สีลมัย
- ธัมมัสสวนมัย และทิฏฐุชุกัมม์ จัดเข้าใน-> ภาวนามัย
- ส่วนปัตติทานมัย จัดเป็นได้ทั้ง-> ทานมัย สีลมัย และภาวนามัย คือ การให้ส่วนบุญอุทิศส่วนบุญคือทานมัย การบอกบุญชักชวนผู้อื่นให้มาทำบุญให้มาร่วมบุญคือสีลมัย การแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ทั้งปวงคือภาวนามัย.